วอลเล็ต แก้วิกฤต “เศรษฐา” ?
ในจังหวะสัปดาห์นี้มี “ไทม์มิ่ง” ของ “จุดบรรจบ” 2 เรื่องสำคัญที่ถูกจับตาแบบ “ขนานคู่” มาตั้งแต่ “รัฐบาลเศรษฐา” นำโดยพรรค เพื่อไทย เข้ามาบริหารประเทศ นับตั้งแต่สภาโหวตให้ “เศรษฐา” เป็นนายกฯคนที่ 30 ต่อจาก “รัฐบาล3ป.” ของ “ลุงตู่” เมื่อ 22 ส.ค.66
อันเป็นวันเดียวกับที่ “นช.ทักษิณ”เดินทางกลับมาเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีที่ประเทศไทย และเข้าสู่เรือนจำเพียงไม่ถึงวัน ก่อนจะออกมานอนพักรักษาตัวที่ ชั้น14 โรงพยาบาลตำรวจ ที่วันนี้(20พ.ย.)เป็นวันครบ90วันตามที่ กลุ่มคปท.นับ ในขณะที่อีก 2 วัน (22พ.ย.) จะเป็นวันครบ 3 เดือนของทั้ง “นายกฯเศรษฐา”และ “ทักษิณ” โดยคนหนึ่งเป็นนายกฯกำลังบริหารประเทศครบ3เดือน คนหนึ่งเป็น “นักโทษ”ที่นอนโรงพยาบาลมาจะครบ 3 เดือน
ที่คนที่เป็นนายกฯอย่าง “เศรษฐา” พยายามทำงานอยางแข็งขันเพื่อปั่นงานใน “ธีมถนัด”ตามภาพจำของผู้คนสำหรับพรรคเพื่อไทย ที่มาในแนว แก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ต้องมาก่อน การเมือง ทำให้มีการวาง“น้ำหนัก”มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากโครงการ “ดิจิทัลวอเล็ต” ไว้ก่อนเรื่อง “แก้ไขรัฐธรรมนูญ”แต่ก็เกิดปัญหา ที่ถูกมองว่า “เหมือนไม่ได้มีการศึกษามาก่อน”
แต่จำต้องทำ เพราะหาเสียงไว้แล้ว แถมยังหวังเป็นกู้คะแนนที่ “ติดลบ”จากการ “พลิกขั้วเปลี่ยนข้าง”ทิ้งการจัดตั้งรัฐบาล กับพรรคฝ่ายประชาธิปไตยที่นำโดย“ก้าวไกล” มาจัดตั้งรัฐบาลกับ “พรรค2ลุง”และคณะฝ่ายอำนาจเก่าขั้ว “อนุรักษ์นิยม”
ยังผลทำให้ โครงการนี้ถูกจี้ตามความชัดเจนมาตั้งแต่การหาเสียง กระทั่งมาถึงการเป็นรัฐบาล และกระทั่ง “นายกฯเศรษฐา”มาแถลงผ่านโทรทัศน์(10พ.ย.)ซึ่งแทนที่กระแสคัดค้านจี้ถามความมั่นใจจะเบาลง กลับยิ่งรุนแรงขึ้น จนถึงวันนี้(20พ.ย.)จากทุกวงการรวมถึงเหล่าบรรดา “นักร้อง”ที่ไปยื่นร้อง “องค์กรอิสระ”ที่แม้จะมีผู้คนระดับนำของเพื่อไทยรวมถึงในรัฐบาลไล่ตั้งแต่ “นายกฯเศรษฐา” ,”หมอมิ้งค์” “หมอเลี๊ยบ”จะพยายามออกมาอธิบายความจำเป็นการใช้มาตรการนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจกระตุ้นGDP ในยามวิกฤติประเทศไทย
แต่ก็ไม่เป็นผล โดยเฉพาะการถูก “จับผิด”ว่ามีความพยายามให้ประเทศอยู่ใน “ภาวะวิกฤติ”เพื่อเป็นเหตุให้สามารถกู้มาแจก แถมยังกู้วิกฤติประเทศได้ ทั้งที่ “ตัวเลขจริง”มีการยืนยันจาก “ฝ่ายเกี่ยวข้อง”กับตัวเลขGDPว่าประเทศไทยไม่ได้วิกฤติที่จะต้องมาใช้มาตรการนี้
อย่างที่ การแถลงตัวเลขของ “เลขาสภาพัฒน์”นายดนุชา ล่าสุดวันนี้(20พ.ย.)ที่แม้จะมีการหั่นเป้าGDPปีนี้โตแค่ 2.5%หลัง ไตรมาส3 หดตัวเหลือ 1.5% เหตุเพราะภาคส่งออกติดลบ 3.1% และคาดการณ์ปีหน้าโตสุดแค่ 3.7%แม้ยังไม่รวมผลแจกเงินหมื่นที่ต้องรอกฤษฎีกา โดยสภาพัฒน์มอง เศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังสามารถขยายตัวได้ดีไม่ได้เข้าขั้นวิกฤต
แม้ตั้งแต่หลังผ่านการระบาดโควิด-19 เศรษฐกิจไทยก็มีความผันผวนมาตลอดโดยเฉพาะจากปัจจัยภายนอก อาทิ ปัญหาเงินเฟ้อสูง ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย แต่เศรษฐกิจภายในของไทยเองยังสามารถเติบโตได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค หรือการท่องเที่ยวยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยมีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้าง เพื่อไม่ให้การเติบโตอยู่ในระดับแค่ 3% กว่าไปแบบนี้โดยต้องเร่งปรับโครงสร้างการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภาคใหญ่ที่มีผลต่อการเติบโตของประเทศ
ในขณะที่ “นายกฯเศรษฐา”กลับมีการ “โฟกัส”ไปที่ตัวเลข GDP ในไตรมาส 3 ที่1.5% ซึ่งต่ำกว่าที่คาด ว่าถือเป็นเรื่องที่น่าห่วงอย่างมาก โดยมีการถาม เลขาธิการสภาพัฒน์ ถึงตัวเลขนี้ และอ้างว่าได้รับคำตอบว่าเป็นเรื่องที่น่าตกใจเพราะคาดว่าจะสูงกว่านี้ ซึ่งเหตุผลที่ตัวเลขไม่เป็นไปตามเป้า มีอุปสรรคหลายอย่าง ทั้งเรื่องของการลงทุน และโรงงานที่ผลิต
ส่วนหนึ่งในเรื่องดังกล่าวจะเป็นเรื่องของ โครงการดิจิทัล วอลเล็ตหรือไม่นั้น นายเศรษฐา ระบุว่า เรื่องนี้มีการพูดไปมากแล้วและก็ได้ทราบถึงขั้นตอน รวมถึงตัวเลขที่ชัดเจน ยืนยันว่าเป็นสิ่งจำเป็นและหลังจากนี้ก็ให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการอยู่
ในขณะเดียวกันก็น่าสนใจกับชุดข้อมูลที่อธิบายจาก“ไหม-ศิริกัญญา”ที่อธิบายใน “ตัวเลขชุดเดียวกัน”จากสภาพัฒน์กับตัวเลข GDPไตรมาส3 ที่1.5% โดยและมีการสรุปว่า ภาพรวมปัญหาเศรษฐกิจไทยเป็นเรื่องของการส่งออกที่หดตัวตามเศรษฐกิจโลก การลงทุนของรัฐที่หดตัวลง และการลงทุนภาคเอกชนที่ถึงแม้จะโตขึ้น
แต่ก็ถือว่าโตน้อยเมื่อเทียบกับการเติบโตของปีก่อน ไม่ใช่ “วิกฤตเศรษฐกิจ” อย่างที่รัฐบาลพยายามประโคมข่าว ซึ่งก็แปลกดี เพราะไม่เคยเห็นรัฐบาลของประเทศไหนอยากจะให้เกิดวิกฤตขึ้นในประเทศ หรือมีท่าทีดีใจที่เห็น GDP โตต่ำ คำถามคือ เมื่อรัฐบาลมองเห็นปัญหาของเศรษฐกิจไทยผ่าน data เหล่านี้แล้ว รัฐบาลจะยังคงฝืนกระตุ้นภาคการบริโภคผ่านโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอยู่หรือไม่ทั้ง ๆ ที่ก็เห็นกันอยู่ว่าภาคการบริโภค โตกว่า 8%
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews