ยังไงชอบกล ในจังหวะ เหล่าบรรดา“สว.ตัวตึง”จะล่าชื่อ เปิดศึกซักฟอก “รัฐบาลเศรษฐา”โดยไม่ลงมติ ต่อจาก“ศึกงบประมาณ67” โดยจั่วหัวปัญหาการบริหารงานของรัฐบาล4เดือนใน 2 ประเด็นไฮไลท์อย่างปม1.กระบวนการยุติธรรมกรณี “คนชั้น14”และ 2.ปม “แจกเงินหมื่นดิจิทัล”ที่ส่งตีความคาอยู่ที่สนง.กฤษฎีกามาหลายเพลา โดยรมต.คลัง เมื่อวาน(8ม.ค.)เพิ่งออกมาตีปี๊บทำนอง กฤษฎีกา “ไฟเขียว”ส่งกลับมาแล้วที่รัฐบาล “ยืนยัน” ออก พรบ.เงินกู้ 5 แสนล้านได้ เป็นไปตามอำนาจ ครม.และกรรมการนโยบาย แม้จะมีรายงานข่าวว่า คำตอบ ที่ส่งกลับมา ถูกตีตราเป็นเอกสารลับ แต่มาวันนี้(9ม.ค.)ปรากฏ “นายปกรณ์”“เลขากฤษฎีกา” ออกมา “ย้อนศร”ไม่ได้เป็นตำรวจจราจร จะไป บอกว่า “ไฟเขียว”แค่บอก หากรัฐบาลทำตามเงื่อนไขของกฎหมายตาม ม.53 และอีกหลายมาตราที่เกี่ยวข้องวินัยการเงินการคลัง ก็สามารถออก พ.ร.บ.เงินกู้ได้ ทำนอง ไม่ได้ฟังธงให้ ว่าการกู้เงินทำได้หรือไม่ เพียงแต่เป็นการอธิบายในข้อกฎหมายเพื่อให้รัฐบาลไปตัดสินใจว่าข้อเท็จจริงเข้าเงื่อนไขหรือไม่ ที่หลายฝ่ายก็ เชื่อว่ากฤษฎีกาย่อมเขี้ยวพอ ที่จะไม่เอาตัวเองมาเป็นประกัน ตีตรา ให้ไฟเขียว โครงการกู้มาแจกของรัฐบาล แต่ตอบกว้างๆ
ให้ไปตัดสินใจเอง
อย่างที่ยังมีการย้ำว่า คณะกรรมการได้ส่งความเห็นไปให้ ครม. แล้ว แต่จะต้องเข้าคณะกรรมการชุดใหญ่ก่อน และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ชี้แจงรายละเอียด แต่ยังไม่มีคำว่าไฟเขียว เนื่องจาก กฤษฎีกาตอบได้เพียงข้อกฎหมาย ซึ่งต้องดูว่าที่กำหนดไว้ในมาตรา 53 มีอะไรบ้าง เงื่อนไขจะต้องเป็นเรื่องที่แก้ไขอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขวิกฤตของประเทศดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดูว่าเข้าเงื่อนไขหรือไม่ ถ้าเป็นไปตามเงื่อนไขก็สามารถทำได้ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์และไม่มีอะไรน่าห่วง เพราะเวลารัฐบาลทำอะไรก็ต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูลข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่ถูกต้อง เชื่อมั่นว่าทุกคนยืนอยู่บนข้อเท็จจริงเหมือนกัน โดย ย้ำว่า รัฐบาลถามมาเพียงคำถามเดียว คือจะสามารถออกเป็น พ.ร.บ.เงินกู้ได้หรือไม่แต่ไม่มีถามเพิ่มเติมกรณีมองว่าวิกฤติหรือไม่
โดยก่อนหน้าการประชุมครม.“นายกฯเศรษฐา”ก็ยอมรับว่ายังไม่ได้มีการนำความเห็นของกฤษฎีกาเข้ามาคุย เพราะต้องรอเข้าสู่คณะกรรมการดิจิทัลวอเล็ตที่ตัวเองเป็นประธานก่อน และยืนยันว่ากฤษฎีกาไม่ได้ตีความว่าทำได้หรือทำไม่ได้ เป็นเรื่องดุลพินิจที่ต้องฟังความเห็น และปฏิเสธที่จะเผยคำตอบของกฤษฎีกาที่แจ้งกลับา โดยขอประชุมก่อน แต่ยืนยันว่า ยังคงไทม์ไลน์เดิม และยอมรับว่าทุกเรื่องมีความหนักใจหมดเพราะต้องทำให้ถูกต้องครบถ้วนและรับฟังความคิดเห็นทุกฝ่าย
เรียกว่าเป็นอีกช็อตที่ทำท่าว่าจะทำให้ รัฐบาลต้องดีเลย์การผลักดันโครงการแจกเงินดิจิทัล1หมื่นบาท ออกไปจากกำหนดที่ตั้งไว้เดือนพ.ค.67 ที่เคยเลื่อนมาว่าจะแจกเดือนก.พ.67 มาแล้วไม่นับรวมการเลื่อนแล้วเลื่อนอีกไม่ต่ำว่า 3-4 รอบทั้งขาไป-ขากลับ การส่งกฤษฎีกาตีความจากการออกมาตอบของ “นายกเศรษฐา”ว่า “สัปดาห์หน้า”และ “สัปดาห์หน้า”ด้วยเงื่อนไขมากมาย ทั้ง จากเสียงที่เคยทักท้วงจากหลายฝ่าย ที่ออกมาเคลื่อนไหว โดยเฉพาะแวดวงนักวิชาการเศรษฐศาสตร์การเงินอดีตผู้ว่าแบงค์ชาติ อดีตรมต.คลัง รวมถึงนักร้องถึงขนาดมีการไปยื่นผ่านไปยังศาลรัฐธรรมนูญที่แม้จะลงเอยว่าไม่มีการรับคำร้องเพราะยังไม่มี มติครม.หรือเข้าสู่กระบวนการ แต่ก็กระเพื่อมพอที่จะทำให้ หลายฝ่ายโดยเฉพาะ “บรรดาหน่วยงานองค์กร”ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น แบงค์ชาติ กฤษฎีกา สภาพัฒน์ ต้องรอบคอบระวังกับ“คำทัก”จากเหล่าบรรดากูรู ถึงความสุ่มเสี่ยง เรื่องการนำเงินมาใช้ในโครงการนี้ของรัฐบาลด้วยการกู้
ที่เมื่อมาผนวกเข้ากับเสียงติงก่อนหน้านี้ของสภาพัฒน์ แบงค์ชาติ กับเรื่องตัวเลข จนมาถึงกฤษฎีกา กรณี ปฏิเสธว่าไปเปิดสัญญาน “ไฟเขียว”ให้รัฐบาลล่าสุด ก็ยิ่งถูกมองเป็นความสอดคล้อง อย่างที่ “อ.สมชัย ศรีสุทธิยากร”ที่ประเมินว่ามีแนวโน้มว่าถึงที่สุด รัฐบาลก็ต้องพยายามหาทางดันนโยบายนี้ออกมาให้ได้โดยอาจฟังหรือไม่ฟังกฤษฎีกาก็ได้เพราะเป็นอำนาจตัดสินใจรับผิดชอของรัฐบาล แต่อาจต้องดีเลย์ที่ประชาชนจะได้ใช้เงินไปมากกว่าเดือนพ.ค.67 หรืออาจต้องเลื่อนไปเรื่อยๆมากกว่านี้ เพราะ รัฐบาลอาจต้องไปหาวิธีการปรับกระบวนวิธี หากพบว่าสุ่มเสี่ยงตลอดรายทาง ถึงขนาดแม้กระบวนการจะผ่านครม.ผ่านสภาเพราะมีเสียงมาก ไปสู่ขั้นตอนปลายทางก็ยังมีโอกาสที่จะถูกฝ่ายไม่เห็นด้วยไม่ว่าจะเป็นสว.หรือฝ่ายต่างๆเข้าชื่อยื่นส่งต่อไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความที่ย่อมส่งผลกระทบทางการเมืองกับรัฐบาลเช่นกัน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews