ในจังหวะการเมืองเหมือนถูกเร้าเกมร้อนการตีโอบ “รัฐบาล”ผ่านกระบวนการตรวจสอบของ สว.250 องค์กรอิสระ โดยเฉพาะ ปปช. ที่กลับมา ฟังก์ชั่น ทั้งการยื่นขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามม.153 ใน 7 ประเด็นปัญหาการบริหารของรัฐบาล4เดือนที่ผ่านมา และปมรายงาน 177 หน้าของคณะทำงานปปช.เกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอเล็ต ที่หลัก ๆ ทั้ง 2 องค์กร โฟกัสเป้า ไปที่ 2 ประเด็นไฮไลท์ประเด็นคนชั้น 14 -ทักษิณ และ ประเด็น “นโยบายเรือธง” ดิจิทัลวอเล็ต ของ “รัฐบาลเพื่อไทย”ที่เริ่มเห็น ปรากฎการณ์ตีกระหนาบ กดดันไปยังบรรดา “ข้าราชการ” ที่อยู่ในกลไก จากหลายฝ่าย
แต่ที่น่าสนใจอีกด้านคือ “สัญญาน” ที่ปรากฏผ่านกรณี “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัย คดี “ศักดิ์สยามซุกหุ้น”เมื่อวาน(17ม.ค.)ที่หลายฝ่ายจับตาถึง “เอฟเฟ็กต์” จากเคส “ศักดิ์สยาม” ทั้งในมิติกฎหมาย และมิติการเมืองที่กำลังเป็นที่วิเคราะห์จากนักวิเคราะห์ในหลายมิติ ทั้งผลกระทบการเป็น “คู่เทียบ”ที่จะมีคดีสำคัญลักษณะคล้ายกันกรณีคดีถือหุ้นไอทีวี.ของ “พิธา-ก้าวไกล” ที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ”ไต่สวนเสร็จ และ นัดฟังคดีวินิจฉัย 24 ม.ค. 67 นี้เวลา 14.00 นาฬิกาที่ก่อนหน้านี้มีการจับตาว่าจะเป็นในทิศทางแนวโน้มเดียวกันหรือไม่ และ ใน มิติผลกระทบแห่งคดีของ “ศักดิ์สยาม”ต่อพรรคภูมิใจไทย โดย เทียบเคียง กับ คำตัดสิน ยุบพรรคอนาคตใหม่ จากปมการบริจาดเงินของ “ธนาธร”
ไม่เท่านั้น ยังมีการมองเทียบเคียงหากจะเกิด “เอฟเฟ็กต์” ตามมาตรฐานเดิมที่เคยมีการยุบอนาคตใหม่ กับ ภูมิใจไทยมาเทียบกับอีกคดีของ “พรรคก้าวไกล” ที่ถูก “ธีรยุทธ สุวรรณเกสร” อดีตทนายความ “พุทธะอิสระ”ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การกระทำของ “พิธา” ขณะที่เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ พรรคก้าวไกลที่เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ใช้เป็นนโยบายหาเสียงถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ซึ่งคดีนี้ศาล ก็นัดแถลงการณ์ด้วยวาจา ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติในวันที่ 31 ม.ค.67 เวลา 09.30 น. และนัดฟังคำวินิจฉัยเวลา 14.00 น. วันเดียวกัน
โดยประเด็น “ศักดิ์สยามเอฟเฟ็กต์” นั้น มีการมองว่า อาจลุกลามไปถึงขั้น “ยุบพรรค” จากกรณีที่ศักดิ์สยามเคยบริจาคเงินให้กับพรรคภูมิใจไทย เทียบเคียงกับกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ จากกรณี “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ”หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้พรรคกู้ยืมเงิน 191.2 ล้านบาท ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเงินดังกล่าวถือเป็นเงินบริจาค หรือประโยชน์อื่นใด ที่ต้องห้ามตามมาตรา 66 วรรคสอง รวมทั้งฝ่าฝืนมาตรา 72ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง เป็นเหตุให้ยุบพรรค และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปีหากเป็นเช่นนี้ จะหมายรวมไปถึง “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรครวมทั้งกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทยทั้งหมด 11 คน ด้วยหรือไม่ ที่อย่าลืมว่าประเด็นเหล่านี้เคยมีการแฉของ”ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์”เปิดข้อมูล หลักฐานซึ่งระบุว่าเกี่ยวกับการรับบริจาคเงินของพรรคภูมิใจไทยบัญชีทรัพย์สินของศักดิ์สยามและเอกสารโอนเงินโอนหุ้นของบริษัท ที่พบว่า ศักดิ์สยามเป็นเจ้าของ ยื่นให้กกต. พิจารณายุบพรรคภูมิใจไทย เนื่องจากเห็นว่า เข้าข่ายความผิด ตามมาตรา 72 มาแล้วตอนช่วงที่มีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง
ที่ปรากฎการณ์ “คู่เทียบ” ทางคดี ในห้วงนี้ระหว่างพรรคภูมิใจไทยกับก้าวไกลผ่านตัวละครข้างต้น ถูกมองเชื่อมโยงความเข้มข้นการต่อรองทางการเมืองในห้วงนี้ ถูกจับตาท่าทีของก้าวไกล ในห้วงนี้จนทำให้วันนี้(18ม.ค.) “ต๋อม-ชัยธวัช” ต้องออกตัว ต่อเสียงวิจารณ์ ที่พรรคก้าวไกลไม่ยื่นให้ยุบพรรคภูมิใจไทยเพราะกังวลว่าพรรคตนเองจะถูกยุบว่า ไม่เกี่ยวกับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 31 ม.ค. เพราะคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย ในวันนั้นเป็นคำร้องที่จะนำไปสู่การยุบพรรคก้าวไกลแต่เป็นคำร้องเพื่อให้ยุติการกระทำที่กล่าวหามา มั่นใจว่าพรรคก้าวไกลไม่ถูกร้องให้ยุบพรรคแน่นอนและย้ำว่า พรรคก้าวไกลได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ และยืนอยู่บนข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายจึงไม่ได้กังวล พร้อมที่จะไปรับฟังคำวินิจฉัยตัดสิน หากไม่ติดโหวตวาระสำคัญที่รัฐสภาก็จะเดินทางไปฟังคำตัดสินด้วยตนเองทั้งวันที่ 24 มกราคมและวันที่ 31 มกราคมและนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็จะไปฟังคำตัดสินด้วยตัวเองในคดีถือหุ้นไอทีวีด้วย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews