Home
|
ข่าว

รัฐบาลปึ้ก-ก้าวไกลซักฟอก จับสัญญาณศก.ถดถอย

 

 

 

จับสัญญาณการเมืองไทย กับศึกซักฟอกไม่ลงมติ หลังพรรคร่วมฝ่ายค้านขอยื่นญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 เพื่อซักถามการทำงานของรัฐบาล “เศรษฐา”

 

 

 

ซึ่งเกมนี้ “พรรคก้าวไกล” ถูกจับตาว่าจะสามารถเปิดแผลความล้มเหลวของรัฐบาลเพื่อไทยตลอดระยะเวลา 6 เดือนในการบริหารงานชาติ บ้านเมือง ได้มากน้อยเพียงใด

 

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า การอภิปรายดังกล่าว ไม่สามารถทำอะไรรัฐบาลได้ นั่นเพราะปัจจุบัน สถานการณ์ของพรรคร่วมรัฐบาลมีเอกภาพแน่นแฟ้นมาก และยิ่งการอภิปรายแบบไม่ลงมติด้วยแล้ว ก็ไม่สามารถทำให้รัฐบาลเศรษฐาสั่นคลอนได้เลย

 

“ผมว่ายากครับ เพราะว่าด้วยสถานการณ์ทางการเมือง ณ เวลานี้อย่าลืมว่าสถานการณ์ในสภา 314 เสียง ของรัฐบาลเขาก็ยังมีเอกภาพกันอยู่ และก็พรรคร่วมรัฐบาลก็ยังมีความสัมพันธ์ในเชิงบวกกันอยู่ เพราะฉะนั้นเวลาการอภิปรายยิ่งครั้งนี้ เป็นการไม่ลงมติยิ่งไม่ได้ทำให้เกิดการสั่นคลอนอะไรได้เลยในสภา ในขณะที่นอกสภาสถานการณ์การเมือง ณ วันนี้ก็กำลังจะปิดสมัยประชุมในช่วงต้นเดือนเมษายน

 

ดังนั้นพอปิดสมัยประชุม สถานการณ์ก็จะเงียบและนอกสภาเองการเคลื่อนไหวต่างๆ เราก็ยังไม่เห็นมีกลุ่มไหนที่เคลื่อนอะไรกันมากนัก ประกอบกับกำลังจะเข้าสู่ช่วงเทศกาลหยุดสงกรานต์ และมีวันหยุดมากมายในเดือนเมษายนความสนใจของผู้คนก็จะลดลง ขณะเดียวกัน ตัวพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคแกนนำของฝ่ายค้านก็ต้องพักตัวสักระยะนึงนะครับ ก็ต้องวางยุทธศาสตร์จะเดินกันละเอียดรอบคอบใหม่ เพราะฉะนั้นด้วยสถานการณ์การเมืองเหล่านี้ ผมว่าไม่ได้ส่งผลอะไรต่อการอภิปรายที่จะเป็นแรงกระเพื่อมต่อรัฐบาลได้มากนักครับ”

 

ก่อนหน้านี้ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี “น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์” ยืนยันว่า รัฐบาลพร้อมชี้แจงและยินดีที่จะตอบข้อซักถามของ สส.ทุกคน โดยไม่มีความวิตกกังวลใด ๆ และมองว่าเป็นโอกาสที่รัฐบาลจะได้ชี้แจงถึงการดำเนินนโยบายในเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 6 เดือน รัฐบาลนำโดย นายกฯเศรษฐาได้ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารอย่างเต็มที่ และได้ทำตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้กับประชาชน ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ รายได้ รายจ่าย ความเป็นอยู่ของประชาชน สิ่งแวดล้อม อาทิ การลดรายจ่ายด้านพลังงาน และการคมนาคม, ประกาศเดินหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ, การพักหนี้เกษตรกรที่มีหนี้ไม่เกิน 3 แสนบาท, ครม.เห็นชอบจ่ายเงินช่วยค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,000 บาท จำนวน 4.68 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ หรือการช่วยชาวไร่อ้อย ตัดอ้อยสด ลด PM 2.5 120 บาท/ตัน ที่กล่าวมาเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น

 

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจในห้วงเวลานี้ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส ระบุว่า ตัวเลข GDP ของไทยปี 2566 อยู่ที่ 1.9%YOY ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 2.1%YOY ทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปี 2566 ออกมา 1.7%YOY และลบ 0.6%QOQ ส่วนหนึ่งถูกกดดันจากการ เบิกจ่ายของรัฐบาลที่ล่าช้าทั้งในส่วนของ การลงทุนภาครัฐ และ การใช้จ่ายภาครัฐ

 

ซึ่งระยะถัดไปในไตรมาส 1 ปี 2567 แม้มีโอกาสเกิด ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค หรือ technical recession น้อย เนื่องจาก ปัจจัย หนุนหลักๆ มาจากการขยายตัวของการส่งออกสินค้า การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการ อุปโภคบริโภคผ่านมาตรการ EASY E-RECEIPT บวกกับการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาค การท่องเที่ยว

 

อย่างไรก็ตาม Bloomberg Consensus คาดว่าไทยมีโอกาสเกิด Ttechnical recession ในอีก 1 ปีข้างหน้าเพิ่มขึ้นจาก 15% ในช่วงต้นปี สู่ระดับ 30%

 

ดังนั้นจากนี้ต่อไปจะต้องจับตาศึกซักฟอกไม่ลงมติ ในห้วงจังหวะเวลาที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับปัจจัยมากมาย ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นความท้าทายของรัฐบาลเศรษฐาที่จะต้องเร่งดำเนินการแก้ปัญหานั่นเอง

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube