เมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา วุฒิสภา ประชุมนัดสุดท้ายของสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ ครั้งที่ 2 ของสมาชิกรัฐสภาชุดที่ 26 ของไทย ส่วนสภาผู้แทนราษฏรนั้น สั่งลาไปตั้งแต่วันสุดท้ายของการอภิปรายทั่วไป มาตรา 152 แล้ว
โดย “คัมภีร์ ดิษฐากรณ์” โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา แถลงสรุปผลงานการประชุมสภาที่ผ่านมา พบว่า มีการประชุมสภารวม 32 ครั้ง และประชุมร่วมรัฐสภา 1 ครั้ง ได้มีการพิจารณาร่างกฎหมาย
โดยได้รับความเห็นชอบจากทั้ง 2 สภา จำนวน 1 ฉบับ คือ พรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 และอยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา 2 ฉบับ ซึ่ง 1 ในนั้น คือ สมรสเท่าเทียม ที่ สส.รัฐบาลและ ฝ่ายค้านต่างอ้างเป็นผลงานของตน หวังชิงคะแนนนิยมจากกลุ่ม LGbtQ+ (แอลจีบีทีคิวพลัส) อยู่ในเวลานี้
และมีร่างกฏหมายอยู่ในชั้น กรรมาธิการของ สส. 9 ฉบับ อยู่ในระเบียบวาระที่ค้างพิจารณา 20 ฉบับ และอยู่ระหว่างการรอการรับรองของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกฏหมายเกี่ยวกับการเงินอีก 39 ฉบับ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า 1 สมัยประชุม สส. และ สว. ทำงานกันหนักมากเพียงใด ผลักดันกฏหมายผ่านได้แค่ 1 ฉบับ กับรอในชั้น สว. อีก 2 ฉบับ และมีค้างคาไว้สานต่อในสมัยประชุมหน้าอีกมากมาย
จากผลงานของของ สส. และ สว.1 สมัย หลายคนอาจสงสัย ทำไมถึงได้เพียงแค่นี้ มันคุ้มค่ากับเวลา และค่าตอบแทน ซึ่งเป็นเงินจากภาษีของประชาชนมากน้อยเพียงใด ก็ต้องให้ความเป็นธรรมแก้สมาชิกผู้ทรงเกียรติด้วย เพราะ 1 สมัยประชุม ไม่ได้มีแค่เรื่องกฏหมาย ยังมีรายงานศึกษา ของแต่ละกรรมาธิการด้วย ซึ่งอย่างน้อยๆ สส. ก็เห็นชอบรายงานแลนด์บริดจ์ แผนพัฒนาเชื่อมโยงคมนาคมอ่าวไทยกับอันดามันแล้ว,
รวมถึง สส.ยังเห็นชอบรายงานคาสิโนเสรี หรือ “เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์” ด้วย ตลอดจนยังเห็นชอบรายงานอื่นๆ อีกมากมาย รวมทั้งตอบโต้กันเรื่อง “นายใหญ่ชั้น 14 นักโทษเทวดา” เพราะไม่ว่าใครจะเอ๋ยถึงก็มักจะมีผู้ประท้วง ทำให้เสียเวลาของสภาของเหล่าผู้ทรงเกียรติไปหลายครั้ง และทุกครั้งก็ไม่มีคำตอบให้สังคมเกิดความกระจ่างได้เลย
ส่วนหลังจากนี้จะเป็นกฏหมายได้หรือไม่ ก็คงต้องไปรอลุ้นกันในสมัยหน้าว่า รัฐบาล หรือ พรรคการเมือง จะเดินหน้าผลักดันรายงานศึกษา เรื่องไหน เป็นพิเศษ เพื่อทำให้เมกะโปรเจ็คต์ เกิดขึ้นได้จริงๆ หรือไม่ รวมถึงยังต้องลุ้นว่า ร่างกฏหมาย ที่ยังค้างอยู่ในวาระประมาณ 20 ฉบับ และค้างอยู่ที่ นายฯ”เศรษฐา ทวิสิน” ที่ รองฯปดิพัทธ์ สันติภาดา” เดินทางไปทวงถึงทำเนียบมาแล้ว จะได้รับการผลักดัน
ทั้งจากคณะรัฐมนตรี พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล และ พรรคฝ่ายค้าน เดินหน้าคลอดกฏหมายใหม่ๆ ออกเพื่อดูแลพี่น้องประชาชน เอื้อประโยชน์ต่อการลงทุน สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศได้อีกมากน้อยเพียงใด เพราะลำพังการสรุปผลงานของฝ่ายนิติบัญญัตตอนปิดสมัยประชุมที่ 2 ผ่านกฏหมายแค่ 1 ฉบับ กับ รอลุ้นต่อในชั้นวุฒิสภา อีก 2 ฉบับ บอกเลยว่า หากมองในด้านปริมาณ มันน้อยเกินไป ยังสอบไม่ผ่าน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews