ห้วงเดือนพฤษภาคม เต็มไปด้วยวันสัญลักษณ์ทางการเมือง ประเดิมด้วย 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 หรือเมื่อ10ปีที่แล้ว ผู้นำหญิงคนแรกของประเทศ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”ถูก องค์กรอิสระอย่าง ศาลรัฐธรรมนูญ เขย่าจนหล่นจากบัลลังก์อำนาจ
โดย มีคำวินิจฉัยให้ยิ่งลักษณ์ พ้นจากตำแหน่ง พร้อมกับรัฐมนตรีอื่นอีก 9 คน ปมโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ เมื่อปี2554 “ยิ่งลักษณ์ “มีอายุ 44 ปี เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 และควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อีกด้วย
หลังเป็นนายกรัฐมนตรีได้เกือบ 3 ปี ก็ต้องปิดฉากด้วยการยุบสภาวันที่ 9 ธันวาคม 2556 และรักษาการในตำแหน่งนายกฯต่อไป จนกระทั่งในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนยิ่งลักษณ์จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากปมย้ายถวิล ซึ่งถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บิ๊กตำรวจผู้เป็นญาติ ได้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือไม่
ช่วงบ่ายของวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 หลังจากศาลรัฐธรรมนูญไทยเชือด ยิ่งลักษณ์แล้ว นาย นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และอดีตผู้บริหารบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัดของตระกูล ชินวัตร ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และกำลังผลักดันแผนจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 20 กรกฎาคม 2557
แต่ทว่าประชาชนไม่มีโอกาสได้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกผู้แทนราษฎร ในวันดังกล่าว เพราะว่าหลังจาก 7 พฤษภาคม 2557 เพียง 15 วัน คือ วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช. นำโดย บิ๊กตู่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาล ซึ่งนับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์
โดยในวันนั้นบิ๊กตู่ เรียกถกผู้แทนรัฐบาล, วุฒิสภา, คณะกรรมการการเลือกตั้ง, พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาธิปัตย์, นปช. และ กปปส. ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต ก่อนจะประกาศศักดากระทำรัฐประหารในที่ประชุมนั้นเอง
สำหรับคดีโยกย้ายถวิล เปลี่ยนศรี ไม่ชอบนั้น ต่อมา1 กรกฎาคม 2563 ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดยิ่งลักษณ์ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ส่งอัยการสูงสุดพิจารณาสั่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต่อมา 28 กุมภาพันธ์ 2565 อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องยิ่งลักษณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด
จากนั้น22 พฤศจิกายน 2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกหมายจับยิ่งลักษณ์ เนื่องจากไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุ ต่อมา 26 ธันวาคม 2566 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้อง ยิ่งลักษณ์ เมื่อ 12 ปีก่อน และให้ถอนหมายจับคดีนี้ โดยเห็นว่าไม่มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ โดยไม่อาจรับฟังได้ว่า ยิ่งลักษณ์ มีเจตนาพิเศษ
และต่อมา 27 มีนาคม 2567 ในสมัยรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ทางนายประยุทธ เพชรคุณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ระบุ อัยการสูงสุดเห็นชอบไม่อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่พิพากษายกฟ้อง ยิ่งลักษณ์ ปิดฉากคดีประวัติศาสตร์
ในขณะที่เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยกฟ้อง ยิ่งลักษณ์กับพวก ในคดี งบอีเวนต์ 240 ล้านบาท โครงการโรดโชว์ อีกด้วย
ทำให้ขณะนี้ ยิ่งลักษณ์ เหลือแค่คดีจำนำข้าว ที่ถูกศาลฎีกาฯ ตัดสินจำคุกห้าปี ทำให้ต้องหนีคดีตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน และในการกลับบ้านเกิดตามรอยพี่ชายก็เริ่มมีแสงสว่างปลายอุโมงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆแล้ว ต้องติดตามว่าจะเป็นไปตามหวังและตั้งใจของตระกูลชินวัตรหรือไม่?
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews