32 ปีพฤษภา35 กับ 14 ปีพฤษภา53 ประเทศไทยยังเหมือนเดิม
วันที่ 19 พฤษภาคม นับเป็นวันประวัติศาสตร์การเมือง ที่เชื่อมโยงผูกพันธ์ นักสู้การเมือง 2 ยุคเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น “พฤษภาทมิฬ” ปี35 หรือ “พฤษภาเลือด” ปี 53 ล้วนมีการสูญเสียของผู้เรียกร้อง นักต่อสู้ทางการเมือง แบบที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตย
เหตุการณ์ 19 พฤษภา 35 เกิดขึ้นจาก สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ที่มี “ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” และผองเพื่อนเป็นผู้นำ และประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ มี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นแกนนำออกมาชุมนุมประท้วงคัดค้านการสืบทอดอำนาจของ รสช. เรียกร้องให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เจ้าของวลีเด็ด “เสียสัตย์เพื่อชาติ” นายกรัฐมนตรีลาออก
จนทำให้สถานการณ์ตึงเครียด ถึงขั้นมีการใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามประชาชน มีผู้เสียชีวิต 44 สูญหาย 48 และบาดเจ็บ 1,728 คน โดยการชุมนุมประท้วงปี 35 นั้นมีเชื้อไฟมาจากรัฐประหาร 23 ก.พ. 2534 เป็นปฐมเหตุ เมื่อ คณะ รสช. ยึดอำนาจ จาก พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ แล้วมีการเปลี่ยนผ่าน จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ มีการเลือกตั้งใหม่ โดยที่ พรรคสามัคคีธรรมที่มี รสช.อยู่เบื้องหลังคว้าชัยชนะ สืบทอดอำนาจ จึงเกิดการต่อต้าน นายกฯ คนนอก และนำมาซึ่งความสูญเสียดังกล่าว เป็นบาดแผลให้คนไทยทั้งประเทศ มาจนถึงปัจจุบัน
ซึ่งรวมระยะเวลาแล้วก็ 32 ปีเศษ และเป็นประจำทุกๆปี ก็จะมีการจัดพิธีรำลึกถึงญาติวีรชนกันที่อนุสรณ์สถาน “พฤษภาประชาธรรม” และการสูญเสียในครั้งนั้น ก็ทำให้ มีการตื่นตัวทางการเมือง มีการจัดทำรับธรรมนูญใหม่ ที่เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นจนได้ชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
หลังมีรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน ความศิวิไลย์ทางการเมืองก็เพิ่มขึ้น ประชาธิปไตยเบ่งบานถึงขีดสุด มีการเปลี่ยนแปลงมากมาย แกนนำในปี 35 ขยับตัวเองมาเป็นนักการเมืองก่อนที่วงล้อการเมืองจะซ้ำรอยเดิมอีกครั้ง มีการชุมนุมขับไล่ “ทักษิณ ชินวัตร” ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และลากทหารออกมาปฏิวัติอีกครั้งในปี 2549 จนมีการยุบพรรคไทยรักไทย
และเมื่อเปลี่ยนผ่านเสร็จสิ้น มีการเลือกตั้งเรียบร้อย ฝ่ายของ”ทักษิณ” ภายใต้ชื่อพรรคพลังประชาชน ก็ยังชนะอยู่ดี ก่อนมีอุบัติเหตุทางการเมืองกับ”สมัคร สุนทรเวช” ม็อบพันธมิตรฯ เริ่มกลับมาเคลื่อนไหวขับไล่ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” ก่อนพ้นตำแหน่งเพราะพรรคถูกยุบอีก และเกิดปรากฏการณ์งูเห่าในสภา หารือตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ได้ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นนายกรัฐมนตรี ก็นำมาซึ่งม็อบอีกฝ่าย ภายใต้ชื่อแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ หรือ นปก. ก่อน เปลี่ยนมาเป็น นปช. มี “วีระกานต์ มุสิกพงศ์,จตุพร พรหมพันธ์, ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ เป็นแกนนำ ชุมนุมใหญ่อยู่ที่แยกราชประสงค์
เพื่อเรียกร้องให้ยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน จนบานปลาย มีผู้เสียชีวิต ทั้งมวลชนและเจ้าหน้าที่ ในเดือนเมษายน 53 ก่อนมีการใช้กำลังทหารเข้ากระชับพื้นที่ล้อมปราบปรามประชาชนกลางกรุงอีกครั้ง แกนนำต้องประกาศยุติการชุมนุมลงในวันที่ 19 พฤษภา 53 โดยที่มีผู้เสียชีวิตตลอดการชุนุม รวมเกือบ 100 ราย บาดเจ็บอีกหลายร้อยคน นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ทางการเมืองอีกครั้ง และบังเอิญเป็นวันเดียวกัน ต่างกันแค่ปี พศ. คือ 35 และ 53 ซึ่งทั้ง 2 ครั้ง ก็กลายเป็นประวัติศาสตร์ทางการเมืองครั้งสำคัญของประเทศ นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลานั้นๆ ได้เป็นอย่างดี
แม้จะหลังเหตุการร์พฤษภา 53 ไม่เท่าไหร่ จะมีปฏิวัติ รัฐประหารอีกรอบก็ตาม นักต่อสู้ เคลื่อนไหวทางการเมืองรุ่นหลัง ต้องเรียนรู้กันต่อไป ว่าจะต้องรักษาประชาธิปไตยนี้ไว้อย่างไร หลัง คสช.คืนอำนาจกลับมาให้ มีการเลือกตั้งแล้ว ถึง 2 ครั้ง แต่ความแตกแยกทางความคิดและขัดแย้งทางการเมืองยังมีอยู่ เพื่อไม่ให้มีเหตุการณ์ แบบพฤษภา 35 และ 53 กลับเกิดขึ้นอีกในสังคมไทย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews