นโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน ในเดือนตุลาคม 2567 สร้างแรงกระเพื่อมให้กับผู้ประกอบการอยู่ไม่น้อย เพราะนี่คือต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ
ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส ระบุว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบรายงานความคืบหน้าการกำหนดอัตราค่าจ้าง 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ โดยคาดประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้บังคับใช้ กันยายน – ตุลาคม 2567 หรือ ช่วงไตรมาส 3 และ 4 โดยคิดเป็นการเพิ่มขึ้น 13% จากค่าแรงขั้นต่ำในปัจจุบัน
และหากไปดูข้อมูลในอดีตในช่วง 12 – 13 ปีที่ผ่านมา พบว่า กระทรวงแรงงานมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาแล้ว 7 ครั้ง หากไม่นับปี 2011 มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในจังหวัดกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล อยู่ในช่วง 3 – 15 บาทต่อวัน หรือมีการปรับขึ้น 1 – 7% เป็นต้น แสดงว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปีล่าสุด ถือว่า อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับในอดีตมาก
ขณะที่ภาคเอกชนนำโดย “นายเกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs มีความกังวลต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนการผลิต สะท้อนได้จากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2567 อยู่ที่ระดับ 90.3 ปรับตัวลดลงจาก 92.4 ในเดือนมีนาคม 2567
ดังนั้น จึงมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐให้ชะลอการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำออกไปก่อน เนื่องจากภาคการผลิตยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง และผู้ประกอบการ SMEs กว่า 3.18 ล้านราย ยังไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นได้ ซึ่งการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะต้องเป็นไปตามกลไกของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด และคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด
ขณะที่ผู้ประกอบการภาคขนส่ง นำโดย “นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง” นายกสมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.โดยถามกลับไปยังรัฐบาล ว่า รับไหวหรือไม่ หากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันครั้งนี้ จะทำให้คนตกงานเป็นจำนวนมาก
“สิ่งที่รัฐบาลบอกจะปรับค่าแรงขึ้น 400 ตอนนี้สภาอุตสาหกรรมฯก็ออกมาบอกแล้ว SME ถ้าคุณปรับเมื่อไหร่ ก็เจ๊งเมื่อนั้น แล้วคนลอยแพ ตกงานเป็นล้านๆ คน แล้วคุณจะรับไหวหรือเปล่า”
ดังนั้น “นายอภิชาติ” จึงมีข้อเสนอไปยังรัฐบาลว่า ถ้าจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ควรจะค่อยๆปรับ เป็นขั้นบันได เพื่อให้ธุรกิจปรับตัว พร้อมกันนี้ “นายอภิชาติ” ได้ยกตัวอย่างธุรกิจรถบรรทุกไว้อย่างน่าสนใจ ว่า ถ้ารถบรรทุกวิ่งแล้วขาดทุน จนต้องหยุดวิ่ง คนก็ตกงาน ถูกลอยแพ ตรงนี้รัฐบาลมีปัญญาแก้หรือไม่
“เรื่องค่าแรงต้องค่อยๆ ปรับทีละสเต็ปเป็น 320, 330, 340, 350 ค่อยๆไป ไม่ใช่พรวดขึ้นไปทีเดียวเป็น 100 คุณยังไม่ให้มีโอกาสให้ผู้ผลิตหรือผู้บริโภคได้เลือกเลย เอาอย่างผมแล้วกันรถบรรทุกมีอยู่ 1 ล้านกว่าคัน มีพลเมืองอยู่ประมาณ 4 ล้านกว่าคน พลเมืองเกี่ยวกับ ด้านอาชีพโลจิสติกส์ 4 ล้านกว่าคน คุณมองข้ามได้ยังไง แล้วถ้าเกิดตรงนี้ผมขาดทุนผมวิ่งไม่ได้ ผมต้องจอด นี่ไม่ใช่เป็นการประท้วงนะ เราจอดเพราะเราขาดทุน ถึงตอนนั้นแล้วคนถูกลอยแพขึ้นมาแล้วจะทำยังไง รัฐบาลมีปัญญาแก้หรือเปล่า”
จากนี้ต่อไปจะต้องจับตาท่าทีของภาคเอกชน ผู้ประกอบการ กับนโยบายรัฐบาลในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันเท่ากันทั้งประเทศ เพราะทั้งหมดนี้ ย่อมมีผลต่อการดำเนินธุรกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ของลูกจ้าง ซึ่งเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจไทยในภาพใหญ่นั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews