ยามนี้แทบทุกวงการ กำลังวิเคราะห์แรงกระเพื่อมการเมือง จากประเด็น “จุดบรรจบ” 4 คดีและ 1 เหตุการณ์ ในวันที่ 18 มิ.ย.67 ที่ถูกมองว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงและส่งผลกระทบในทิศทางบ้านเมืองถัดไปหรือไม่
ไล่ตั้งแต่ 1.คดีถอดถอนนายกฯเศรษฐา 2.คดียุบพรรคก้าวไกลล้มล้างการปกครอง 3.คดี พรป.เลือกสว.ขัดรธน.หรือไม่ 4.คดี ทักษิณ 112 ที่ อัยการนัดส่งตัวฟ้องต่อศาลและ 5.การเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญพิจารณา พรบ.นิรโทษกรรม ที่ถัดไปวันที่ 19-21 มิ.ย.เป็นการพิจารณา พรบ.งบประมาณ 68
โดยร่องรอยการวิเคราะห์จากหลายฝ่าย มีการประเมินร่องรอย “ผลกระทบ” ออกมา โดยระบุว่ามี 2 คดี ที่อยู่ใน “ศาลรัฐธรรมนูญ” ที่จะส่งผลกระทบคือ 1.การถอดถอนนายกฯเศรษฐา และ 2.การยุบพรรคก้าวไกล ส่วน “คดีทักษิณ” นั้น มีการมองว่าไม่ส่งกระทบเพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัวทักษิณ ที่แม้ออกมาในหน้าที่เลวร้าย วันที่ 18 มิ.ย. “อัยการสูงสุด” ไม่รับคำร้องขอความเป็นธรรม และนำตัวส่งฟ้องศาล
และต้องเข้าสู่กระบวนการ ของราชทัณฑ์ ก็ยัง “กุมสภาพได้” เหมือนที่เคยไปนอน “ชั้น14” รพ.ตำรวจ ส่วนการประชุมสภาพิจารณางบ 68 ก็ไม่น่ามีปัญหา ที่จะ “ไม่ผ่าน” เพราะทุกฝ่ายข้าราชการ-ทหาร ยังกินเงินเดือน เช่นกันกับ พรป.เลือกสว.ที่เคยผ่านการตรวจทานจากหลายฝ่ายทางกฎหมายมาแล้ว ก็ย่อมไม่มีปัญหาขัดรัฐธรรมนูญ
โดยมีการมองว่า “ไฮไลท์” วันที่18 มิ.ย.น่าจะอยู่ที่ “คดีเศรษฐา” ที่หากผลออกมา “ทางลบ”จะกระทบต่อรัฐบาลที่ต้อง “หานายกฯใหม่” ส่วน “พรรคก้าวไกล” นั้น ถูกมองว่า ยังมีโอกาสหายใจหายคอไปได้อีกซักพักยังไม่ถูกตัดสินยุบในระยะใกล้นี้ แม้จะมีบางฝ่ายมองว่า หาก 2 คดี คือ “เศรษฐา-ก้าวไกล” เกิดขึ้นใกล้ ๆ กัน จะเกิดแรงกระเพื่อมจากการ “พลิกขั้ว”
อย่างที่มีข่าวการ “ดูดส.ส.” ย้ายพรรคอย่างที่ “อ.ยุทธพร อิสรชัย” อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชมองว่าสถานการณ์ที่มาบรรจบกัน ทำให้เดือนมิ.ย. เกิดกระแสข่าวจำนวนมาก เช่น อาจเกิดรัฐประหาร ผนวกกับการเลือกส.ว.ที่กำลังดำเนินการ แต่คิดว่า คงไม่ถึงขั้นรัฐประหาร แต่ปฏิเสธไม่ได้ภายใต้ สถานการณ์สังคมบริบททางการเมืองแบบประเทศไทย ที่ประชาธิปไตยยังไม่ตั้งมั่น
ดังนั้นกระบวนการเกิดรัฐประหาร จึงมีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้ตลอดอยู่แล้ว เพียงแต่จะมีพัฒนาการหรือรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป จากที่เคยขนอาวุธ บุกยึดสถานที่สำคัญระยะหลังมีพัฒนาการรัฐประหารด้วยดอกไม้ และรัฐประหารในห้องประชุม เรียกว่า มีพัฒนาการไม่น้อยกว่าพัฒนาการประชาธิปไตย
ส่วนจะทำให้ขั้วการเมืองเปลี่ยนไปหรือไม่ “อ.ยุทธพร” มองว่าการเปลี่ยนขั้วการเมืองต้องไปดูความสำคัญในคดีของ นายเศรษฐาด้วย ถ้าต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ จะทำให้ต้องเลือกนายกฯใหม่ และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ถ้าถึงตอนนั้นโอกาสที่จะสลับขั้ว ข้ามขั้วและเกิดกรณียุบพรรคก้าวไกลในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน ก็เป็นไปได้ที่จะเห็นเรื่องการย้ายพรรค ซึ่งอาจนำไปสู่พรรคใหม่และอาจไปจับขั้ว ฉะนั้นเดือนมิ.ย. 3 เรื่องนี้มีความสัมพันธ์กันหมด
ขณะที่ “ดร.ธนพร ศรียากูล ผอ.สถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย” ประเมินว่าการเมืองไทยทิศทางยังไม่เปลี่ยน คือ “พรรคก้าวไกล” ห้ามมีอำนาจรัฐ ซึ่งจะเดือดก็ตรง การ “ยุบพรรคก้าวไกล” แต่อาจจะยังไม่เกิดขึ้นในวันที่ 18 มิ.ย. คงจะลากยาวไป อย่างน้อยอีกซัก 3 เดือนเป็นอย่างน้อย เพราะต้องให้โอกาสก้าวไกลชี้แจงอย่างเต็มที่
โดยมองว่า “เป้าหมาย” ฝ่ายอำนาจ คือ “ยุบแน่” แต่ยุบอย่างไรให้ดูดีหน่อย ส่วนวันที่ 18 มิ.ย.มองว่า “ประเด็นหลัก” คือ “การถอดถอนเศรษฐา” เพราะหาก “เศรษฐา” พ้นนายกฯ การเมืองต้องหานายกฯใหม่ ถ้าวันที่ 18 มิ.ย.” เศรษฐา” พ้นตำแหน่ง แต่คดีก้าวไกลยังอยู่ ก็แปลว่า ก้าวไกลก็มีความชอบธรรมเช่นกันในการแข่งโหวตนายกฯตั้งรัฐบาล
อันนี้ต่างหากที่บอกว่า จะเกิด “การสวิงขั้ว” วุ่นวาย แต่ “คนที่คุมเกม” คงไม่เปิดโอกาสให้ “พรรคสีส้ม”กลับมาฟื้น แม้ “หัวหน้าพรรคต๋อม” จะบอกว่า โอกาสสลับขั้วเป็นไปได้ยากแต่ถ้าพรรคยังอยู่ แล้วหากสลับขั้วได้ขึ้นมา คราวนี้มันจะกลายเป็น “เรื่องใหญ่” ขึ้นมา ซึ่ง “ผู้คุมเกม” ก็ต้อง “จัดการความเสี่ยง” อยู่แล้ว ดังนั้น “เศรษฐา” จะต้องอยู่เป็นนายกฯตามดีลต่อไป.
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews