Home
|
ข่าว

งบฯ 68 วงเงิน 3.75 ล้านล้าน พอแจกดิจิทัลวอลเล็ตมั้ย ?

 

 

 

 

เหลืออีก 4 เดือน วงรอบการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่รัฐบาลบอกว่าไม่ได้ตั้งมาเอง และเพิ่งจะมีผลใช้บังคับอย่างเป็นทางการไปเมื่อเดือนก่อน จะสิ้นสุดลง

 

 

 

 

รัฐบาลของนายกฯเศรษฐา ทวีสิน ตัดสินใจ เสนอเปิดสภาสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ในสัปดาห์นี้ โดยหวังจะได้งบฯใหม่มาใช้อย่างรวดเร็วทันตามกรอบเวลา ซึ่งจะใช้เวลา 3 วัน 19-21 มิ.ย.นี้ ในการอภิปรายในสภาวาระแรก สาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ที่มีวงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท ครั้งนี้

 

คือ รัฐบาลนี้ดำเนินการเองทั้งหมดต้องการผลักดันนโยบายไหนเป็นพิเศษ ก็ต้องเขียนไว้ให้ชัดเจน เพราะมีตัวอย่างมาแล้ว ในช่วงปี 2567 ที่แทบจะขับเคลื่อนนโยบายหลักของตัวเองไม่ได้เลย เนื่องจากไม่มีเงิน ไม่มีความชัดเจนที่จะหาแหล่งทุนมาขับเคลื่อนการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป และมีรายได้ไม่เกิน 70,000 บาทต่อเดือน และมีเงินเก็บไม่เกิน 5 แสนบาท ประมาณ 50 ล้านคน วงเงิน 5 แสนล้านบาท ตามที่หาเสียงไว้ ว่าจะทำทันที

 

แต่นี่บริหารประเทศมาจะครบ 1 ปี ในอีก 2 เดือนข้างหน้า ก็ยังไม่มีวี่แววความชัดเจนอะไรสักอย่าง ยกเว้น คำพูดของ “เศรษฐา” หรือ”จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง” ว่าจะได้ใช้เงินในไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งก็กว้างเหลือเกินว่าจะเป็นเดือนไหน หลังจากเลื่อนมาแล้วถึง 4 ครั้ง ดังนั้น ประชาชน ทั้งที่เลือกเพื่อไทย เพราะนโยบายนี้ หรือที่ไม่เลือกก็ตาม จะได้ใช้เงิน 1 หมื่นดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่

 

ในปลายปีนี้ คงขึ้นอยู่กับ พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ที่จะเข้าสภา ในวันพุธนี้ เป็นสำคัญ ว่าจัดสรรงบประมาณของโครงการนี้ไว้ตรงไหน จำนวนเท่าไหร่ เพราะรัฐบาลเลิกล้มความคิดที่จะออก พรบ.กู้ 5 แสนล้าน ที่ถูกต่อต้านอย่างหนักไปแล้ว และระบุจะใช้งบประมาณแผ่นดิน ทั้งของปี 67 และอีกส่วนหนึ่งอยู่ในงบฯของปี 68 รวมถึงแหล่งเงินอื่นของรัฐด้วย

 

รัฐบาลได้ส่งเอกสารที่ใช้ประกอบการพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 256 ต่อสภาผู้แทนราษฏรแล้ว โดยมีสาระสำคัญ คือ มีวงเงิน 3.75ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จำนวน สองแสนเจ็ดหมิ่นสองพันเจ็ดร้อยล้านบาท

 

โดยที่ 5 อันดับแรกหน่วยรับงบประมาณที่ได้รับสูงสุด ประกอบด้วย งบกลาง จำนวนแปดแสนห้าพันเจ็ดร้อยสี่สิบห้าล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี67 หนึ่งแสนเก้าหมื่นแปดร้อยเอ็ดจุดหกล้านบาท หรือ 31%, กระทรวงการคลัง สามแสนเก้าหมื่นสามร้อยสิบสี่จุดแปดล้านบาท เพิ่มขึ้นหกหมื่นสามพันสองร้อยเก้าสิบสี่จุดสามล้านบาท, กระทรวงศึกษาธิการ สามเสนสี่หมื่นห้าร้อยแปดสิบสี่จุดเจ็ดล้านบาท

 

เพิ่มขึ้น หนึ่งหมื่นสองพันสี่ร้อยสิบสามจุดแปดล้านบาท ,กระทรวงมหาดไทย สองแสนเก้าหมื่นสี่พันแปดร้อยหกสิบสามจุดสามล้านบาท ลดลงจากปี 6 ห้าหมื่นหกพันเจ็ดร้อยสามสิบสองจุดเก้าล้านบาท และกระทรวงกลาโหม สองแสนเก้าร้อยยี่สิบสามล้านบาท เพิ่มขึ้นปี 67 ห้าพันหนึ่งร้อยเจ็ดสิบเก้าจุด9ล้านบาท

 

โดยจะเห็นว่า หน่วยรับงบประมาณที่ได้รับงบประมาณสูงสุดใน 5 อันดับแรก แทบไม่แตกต่างจากปีก่อน คือกระทรวงกาคลัง กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม แต่ที่น่าสนใจที่สุดคืองบประมาณของงบกลาง ที่กำกับดูแลโดยนายกรัฐมนตรีโดยตรง ในเอกสารที่เสนอให้สภาพิจารณา มีความชัดเจนว่า งบประมาณสำหรับการใช้ในการทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ถูกจัดอยู่ในส่วนนี้

 

ในหมวดของแผนงานบริหาร เพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ในรายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ วงเงินหนึ่งแสนห้าหมื่นสองพันเจ็ดร้อยล้านบาท และหากนำก้อนนี้ ไปรวมกับที่ รัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว ที่จะออกพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 วงเงิน หนึ่งแสนสองหมื่นสองพันล้านบาท ด้วย ที่จะเข้าสภา ช่วงเปิดสมัยประชุมในเดือนหน้า

 

รวมเงินทั้ง 2 ก้อนแล้ว ยังไม่ใกล้เคียง 5 แสนล้าน ที่จะแจกดิจิทัลวอลเล็ตได้ ยังต้องลุ้นแหล่งเงินเพิ่ม จะหามาจากไหน ดังนั้น ไตรมาส 4 ประชาชนจะได้ใช้เงินดิจิทัล จริงหรือไม่

 

คงต้องรอติดตามฝีมือบริหารจัดการของรัฐบาลนายกฯเศรษฐา ว่าจะเอาเงินจากก้อนไหน ธกส.หรือหน่วยงานอื่น มาเติมให้เต็ม ในส่วนที่ขาดไป เพื่อแจกดิจิทัล ตามเวลาที่นายกฯประกาศไว้ว่าปลายปีนี้ได้ใช้แน่นอนนั้น จะทำได้จริงหรือไม่ และดิจิทัลวอลเล็ตนี้ อาจจะเป็นตัวชี้วัดอนาคตทางการเมืองของรัฐบาล”เศรษฐา, พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลด้วยนั่นเอง

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube