เปิดสมการเศรษฐกิจไทย โยง Soft Power หนึ่งในนโยบายเรือธงของรัฐบาล
โดยนายกรัฐมนตรี “นายเศรษฐา ทวีสิน” ตั้งเป้าผลักดันอุตสาหกรรม Soft Power ทั้ง 11 สาขา โดยนำความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี มาประยุกต์กับทุนทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และบริการของไทย
ในมุมมอง รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ และ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นว่า นโยบาย Soft Power ของรัฐบาลเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะสร้างฐานรายได้ใหม่ให้กับเศรษฐกิจหากทำสำเร็จ
เศรษฐกิจไทยไม่ได้ต้องการมาตรการกระตุ้นอุปสงค์ แต่ต้องการมาตรการทางด้านอุปทานโดยการสร้างกิจการ สร้างฐานรายได้ใหม่ ธุรกิจอุตสาหกรรม Soft Power ควรเดินตามอุตสาหกรรมเป้าหมายเน้นสร้างนวัตกรรมและตอบสนองต่อตลาดโลก มากกว่า event การตลาดฉาบฉวยเป็นครั้งคราว
ยุทธศาสตร์การสนับสนุน Soft Power เพื่อการขับเคลื่อนประเทศในระยะยาว บนฐานการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทยเอง โดยเฉพาะให้กิจการ Soft Power เหล่านี้เชื่อมโยงกับ กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิมและกลุ่มอุตสาหกรรม New S-curve ที่จะสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้นกับภาคการผลิตของไทย
อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ยานยนต์สมัยใหม่ ดิจิทัล การบินและโลจิสติกส์ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ไทยควรเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นและเติบโตในพื้นที่ EEC
สำหรับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง “รศ. ดร. อนุสรณ์” มองดีขึ้น โดยไตรมาส 4 เศรษฐกิจอาจขยายตัวได้มากกว่า 4% จากการฟื้นตัวของภาคส่งออก การเติบโตอย่างต่อเนื่องของภาคท่องเที่ยว รวมทั้งภาคการลงทุนทั้งรัฐและเอกชน
ดังนั้นการเปิดเสรีภาคอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติมโดยให้ต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี ถือครองคอนโดได้ 75% จึงไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน ควรมีการศึกษาผลดีผลเสีย และ ผลกระทบระยะยาวให้รอบคอบก่อน อย่างน้อยที่สุดให้นำเอาผลจากการเปิดให้ทุนต่างชาติสามารถเช่าที่ดินได้ 99 ปีในพื้นที่อีอีซี คือชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา
มาศึกษาดูโดยละเอียดว่า ที่ผ่านมา มีผลกระทบอย่างไรบ้างทั้งผลบวก ผลลบ ผลระยะสั้น และ ผลระยะยาวที่ต้องรอดูต่อไป เพราะไม่มีประเทศอาเซียนประเทศไหนที่ให้เช่าที่ดินหรือถือครองที่ดินยาวนานขณะนั้น ส่วนใหญ่จะให้เช่าที่ดินเพียง 50 ปี
ขณะที่ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส มองภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะเติบโตแบบขั้นบันได หลังจากจีดีพีไตรมาส 1 ปี 2567 ประกาศออกมาโต 1.5% ต่ำสุดใน ASEAN สำหรับสาเหตุหลักมาจากบทบาทของนโยบายการคลัง ที่ทยอยเดินหน้าที่เป็นตัวขับเคลื่อนจีดีพี ซึ่งเชื่อว่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาส 2 – ไตรมาส 4 ปี 2567 ขณะที่เป้าหมายการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยของภาครัฐฯ ส่วนใหญ่จะเน้น ไปที่ 3 เรื่อง หลักๆ คือ
1. การใช้จ่ายภาครัฐ ผ่านการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 วงเงิน 3.60 ล้านล้านบาท เฉพาะอย่างยิ่งด้านการลงทุน และเห็นความต่อเนื่องของการใช้ จ่ายงบประมาณปี 2568 วงเงิน 3.75 ล้านล้านบาท
2. การบริโภคภาคครัวเรือน ตั้งแต่รัฐบาลเตรียมปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน เริ่ม 1 ต.ค.2567 และการมีโครงการ DIGITAL WALLET 10,000 บาทต่อคน ที่จะเริ่มใช้ได้ในช่วงไตรมาส 4 อีกทั้งภาครัฐยังมีมาตรการส่งเสริม ภาคท่องเที่ยวต่อเนื่อง
และ 3. การลงทุนเอกชน ยังมีแนวโน้มเติบโตเด่น หลังต่างชาติที่ได้รับการส่งเสริม ลงทุน มีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในไทยช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ทะลุ 7.1 หมื่นล้านบาท และ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 58%
จากนี้ต่อไปจะต้องจับตาการขับเคลื่อน Soft Power หนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด รวมถึงมาตรการเศรษฐกิจโยงการขับเคลื่อนอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะประเด็นต่างชาติถือครองที่ดิน นอกจากนี้ ยังมีความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังยืดเยื้อไปถึงเดือนกรกฏาคม
โดยศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกลในวันที่ 3 กรกฏาคม และคดีสถานะของนายกฯ เศรษฐา และ ครม. ในวันที่ 10 กรกฏาคม เพราะทั้งหมดนี้ ย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อตัวรัฐบาลไทยนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews