เริ่มต้นแล้วสำหรับ โอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 33 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม – 11 สิงหาคม 2567
ซึ่งโอลิมปิกครั้งนี้ ประเทศไทยมีจำนวนนักกีฬามากที่สุดในอาเซียน โดยมีนักกีฬาไทยที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 51 คน ใน 17 ชนิดกีฬา ประกอบด้วย เทควันโด 3 คน, จักรยาน 4 คน, ยิงปืน 3 คน, ขี่ม้า 1 คน, แบดมินตัน 9 คน, ยกน้ำหนัก 4 คน, ปัญจกีฬาสมัยใหม่ 1 คน, เรือพาย 1 คน, มวยสากลสมัครเล่น 8 คน, กอล์ฟ 4 คน, เรือใบ 2 คน,
ไคท์บอร์ด 2 คน, เทเบิลเทนนิส 3 คน, เอ็กซ์ตรีม 1 คน, ว่ายน้ำ 2 คน, ยูโด 1 คน และ กรีฑา 2 คน ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนล้วนมีเป้าหมายเดียวกันคือ การคว้าเหรียญทองกลับสู่ประเทศไทย เพราะนี่คือกีฬาของคนทั้งโลก
แต่อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ในการแข่งขันนอกจาก “โค้ช” ที่เปรียบเสมือนเป็นกุนซือใหญ่ คอยให้คำแนะนำนักกีฬาในการคว้าชัยแล้ว ยังมีวิทยาศาสตร์การกีฬา ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จดังกล่าวด้วย เพราะเป็นผู้ที่ช่วยให้นักกีฬาแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่ และในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 33 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ทางการกีฬาแห่งประเทศไทย ได้เปิดไทยเฮ้าส์ ให้บริการทัพนักกีฬาไทย โดยจะมีนักวิทยาศาสตร์การกีฬา นักจิตวิทยากีฬา นักโภชนาการกีฬา ประจำอยู่ที่นี่ คอยดูแลนักกีฬาไทย ในเรื่องของการฟื้นฟูร่างกายและรักษาอาการบาดเจ็บ
โดย “ดร.ก้องศักด ยอดมณี” ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. กล่าวกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า โอลิมปิกที่กรุงปารีส ทางกกท.ได้เปิดไทยเฮ้าส์ เพื่อให้บริการทัพนักกีฬาไทยอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งภายในศูนย์ดังกล่าวจะมีนักวิทยาศาสตร์การกีฬาคอยฟื้นฟูสภาพร่างกายนักกีฬาให้มีความฟิตก่อนทำการแข่งขัน
“เราก็จะมีไทยเฮ้าส์เป็นเปิดศูนย์ที่ให้บริการนักกีฬาในทุกๆด้านของวิทยาศาสตร์การกีฬาไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกายภาพ เรื่องของจิตวิทยา เทคโนโลยี เครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาบำบัดเบื้องต้นและการฟื้นฟูแล้วก็การทำให้สภาพร่างกายกลับมากระปรี้กระเปร่าเพื่อได้ลงเล่นอย่างต่อเนื่องได้คือการฟื้นตัว ซึ่งตรงนี้ก็มีเรื่องของโภชนาการด้วย นักกีฬาก็จะได้อาหารเสริมอะไรต่างๆ ที่เข้าไปบำรุงร่างกาย ก็ศูนย์ก็จะให้บริการทั้งโอลิมปิกและพาราลิมปิกเกมส์”
สำหรับการเดินมายังไทยเฮ้าส์ของนักกีฬานั้น ทาง กกท. ได้จัดรถคอยบริการรับส่งจากสนามกีฬาหรือหมู่บ้านนักกีฬามายังไทยเฮ้าส์ ซึ่งจากหมู่บ้านนักกีฬามายังไทยเฮ้าส์ ใช้เวลาเดินทางเพียง 15 นาทีเท่านั้น เมื่อให้บริการเสร็จแล้ว เราก็จะส่งนักกีฬากลับที่พัก
นอกจากนี้ “ผู้ว่า ก้องศักด” ยังได้กล่าวถึงในการเดินทางไปประเทศฝรั่งเศส เพื่อร่วมเชียร์และให้กำลังใจนักกีฬาไทยในการแข่งขันโอลิมปิกด้วยว่า นอกจากจะเดินทางไปให้กำลังใจแล้ว ตนก็ยังมีภารกิจหลายอย่างที่ต้องไปดำเนินการอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพกีฬายูธโอลิมปิกเกมส์ 2030 กับคณะกรรมการโอลิมปิกสากล และคณะทำงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ยืนยันประเทศไทยมีความพร้อม
“บินไปวันที่ 24 ไม่ใช่ไปให้กำลังใจอย่างเดียว ก็คือจะไปเตรียมดูเรื่องของการดูแลนักกีฬา แล้วก็เรื่องของการไปพรีเซนต์เรื่องของการเสนอตัวไปยูธโอลิมปิกด้วย ก็คือเราจะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพยูธโอลิมปิกการไปของผมก็จะเรื่องงานจากที่เกี่ยวกับเรื่องของไปดูแลนักกีฬาแล้ว ก็ต้องไปนำเสนอแผนงานในของเรื่อง เสนอตัวเป็นเจ้าภาพยูธโอลิมปิกด้วย”
อย่างไรก็ตาม นอกจากประเทศไทย ที่แสดงเจตนารมย์ในการขอยื่นเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬายูธโอลิมปิกเกมส์ 2030 แล้ว ยังมีอินเดีย, โคลอมเบีย, เม็กซิโก และ เปรู ที่มีความสนใจในการขอเป็นเจ้าภาพด้วยเช่นกัน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews