จับสัญญาณเศรษฐกิจไทยผ่านยอดขายและการส่งออกรถยนต์ หลังค่ายยานยนต์ไฟฟ้าเปิดศึกหั่นราคาหลักแสนบาท หวังกระตุ้นยอดขายชิงส่วนแบ่งการตลาด ในห้วงจังหวะที่เศรษฐกิจไทยและกำลังซื้อชะลอตัว
โดย “นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์” ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. สะท้อนมุมมองเกมการแข่งขันของค่ายรถยนต์ไว้อย่างสนใจ
โดยเขากล่าวกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า วันนี้การแข่งขันของค่ายรถยนต์ ไม่เพียงแต่รถยนต์ไฟฟ้าที่มีการแข่งขันสูงเท่านั้น แม้แต่ค่ายรถยนต์สันดาปและรถยนต์ไฮบริดก็มีการแข่งขันสูงด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ทางการตลาดของแต่ละผู้ประกอบการ
ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าในไทยมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 10-12 % ขณะที่รถยนต์ไฮบริดมีมาร์เก็ตแชร์มากกว่ารถยนต์ไฟฟ้าถึง 2 เท่า โดยปัจจัยที่ทำให้รถยนต์ไฮบริดได้รับความนิยมมากกว่ารถยนต์ไฟฟ้า เป็นเพราะความกังวลของผู้บริโภคที่มีต่อรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานีชาร์จไฟรายทางที่ต้องรอคิว
“ตอนนี้ในประเทศไทยก็อยู่ที่ประมาณ 10-12% แล้วช่วงเวลา ตอนนี้ก็อยู่ที่พวกโครงสร้างพื้นฐาน ว่าสถานีชาร์จแบตในระหว่างทาง หรือว่าในปลายทางจะมีมากน้อยทำให้เขาคลายกังวลได้มากน้อยแค่ไหน อย่างในอดีตช่วงเทศกาลก็มีปรากฏการณ์แล้วว่า ถ้าไปรวมกันในจังหวัดหนึ่งมากๆ ก็จะทำให้สถานีชาร์จแบตไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้นพวกไฮบริดจึงได้รับความนิยมมากขึ้น
ซึ่งไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ในประเทศจีนซึ่งเขามีสถานีชาร์จ 1.8 แสนกว่าสถานี เขาก็หันมานิยมพวกไฮบริดมากขึ้น หรืออย่างในสหรัฐอเมริกา ก็มีความนิยมในเรื่องของพวกไฮบริดมากขึ้น เพราะว่าถ้าเป็นประเทศกว้างใหญ่ ประชาชนนิยมการเดินทางแล้ว พวกไฮบริดก็จะเป็นทางแก้อันหนึ่งในเรื่องของการคลายความกังวลในเรื่องของสถานีชาร์จแบต”
สำหรับภาพรวมตัวเลขยานยนต์ประจำเดือน มิ.ย. เทียบกับปีก่อน ล่าสุด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รายงานว่าการส่งออกรถยนต์ยังคงเติบโตได้เล็กน้อย แต่สำหรับยอดขายรถยนต์ในประเทศและการผลิตรถยนต์ยังคงติดลบหนัก เทียบกับเดือน พ.ค. ลดลงทุกประเภท
ส่วนปริมาณการผลิตรถยนต์ในช่วงครึ่งปีแรกมีการผลิตอยู่ที่ 761,240 คัน ลดลง 17%YoY คิดเป็นสัดส่วนเพียง 40% ของเป้าการผลิตรถยนต์ทั้งปีที่สภาอุตสาหกรรมตั้งไว้ที่ 1.9 ล้านคัน ทำให้สภาอุตสาหกรรมฯ มีการปรับเป้าการผลิตรถยนต์ปีนี้ลงจากเดิม 11% มาอยู่ที่ 1.7 ล้านคัน หรือ ลดลง 8%YoY
ทั้งนี้ “นายสุรพงษ์” กล่าวว่า สำหรับสาเหตุของการปรับเป้าผลิตรถยนต์ปี 2567 จาก 1.9 ล้านคัน เป็น 1.7 ล้านคัน ลดลง 200,000 แสนคัน โดยปรับเป้าเฉพาะผลิตขายในประเทศลดลงจาก 750,000 คันเป็น 550,000 คันนั้นมาจาก 5 ปัจจัยลบ คือ
1.หนี้ครัวเรือนที่สูงถึงร้อยละ 90 ของ GDP ประเทศ ในขณะที่รายได้ครัวเรือนยังต่ำ จากเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำ
2.การลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังลดลงมาหลายเดือนแล้ว คนงานมีรายได้ลดลง ประชาชนระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น
3.หน่วยงานเศรษฐกิจหลายแห่งลดการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยลง
4.สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์โดยเฉพาะรถกระบะ
และ 5. จำนวนแรงงานวัยทำงานน้อยกว่าเพื่อนบ้านจากอัตราการเกิดต่ำ จะทำให้นักลงทุนลังเลในการลงทุนเพราะเป็นสังคมสูงอายุ
“รับผลในเรื่องของหนี้ครัวเรือนที่สูง พวกสถาบันการเงินก็จะเข้มงวดในเรื่องของการปล่อยสินเชื่อโดยเฉพาะรถยนต์กระบะกับรถบรรทุก เพราะว่า การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเรา ไตรมาสที่ 1 เติบโตในอัตราที่ต่ำแค่ 1.5% และคาดว่าปีนี้ทั้งปีก็จะเติบโตไม่ถึง 3% ด้วย หลายๆสำนักที่คาดการณ์กันไว้ อันนี้ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สถาบันการเงินไม่ค่อยกล้าปล่อยสินเชื่อรถกระบะ
ทำให้ 6 เดือนที่ผ่านมาของปีนี้ ยอดขายรถกระบะลดลงจากปีที่แล้วไปประมาณ 6 หมื่นกว่าคัน ขณะที่เมื่อปีที่แล้วก็ทั้งปีรถกระบะยอดขายก็ลดลงไป 1.2 แสนกว่าคัน เพราะฉะนั้นปีครึ่ง ตั้งแต่ปีที่แล้ว ถึง 6 เดือนปีนี้ ยอดขายรถกระบะก็ลดลงไปแล้ว 1.8 แสนคัน”
ด้านนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ พาย มองแนวโน้มครึ่งปีหลังคาดว่าจะมีปริมาณผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากการที่ค่ายรถยนต์ EV อย่าง BYD และ GAC เริ่มเดินเครื่องผลิตแล้ว จึงมองว่าเป้าหมายใหม่ของการผลิตรถยนต์ปี 2567 มีโอกาสเป็นไปได้สูง แต่อย่างไรก็ตาม การปรับเป้าที่เกิดขึ้น เพราะได้รับผลกระทบจากปัญหานี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้สถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อค่อนข้างมากด้วยเช่นเดียวกัน
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews