Home
|
ข่าว

ทองมาแล้ว ขึ้นแรง ร่วงเร็ว

 

 

 

 

กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง สำหรับราคาทองคำในประเทศ หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ร่วงลงเร็วจนน่าใจหาย เพราะราคาเสี่ยงหลุด 4 หมื่นบาทต่อบาททองคำ

 

 

 

 

 

ซึ่งรอบนี้นับตั้งแต่วันจันทร์ที่ 29 กรกฏาคม 2567 เรื่อยไปจนถึงวันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม 2567 ราคาทองปรับขึ้นตั้งแต่เปิดตลาด มีเพียงวันอังคารที่ 30 กรกฏาคม และ 3 สิงหาคมเท่านั้น ที่เปิดตลาดราคาปรับลง 100 บาท และ 300 บาทต่อบาททองคำ ตามลำดับ

 

ทั้งนี้ เมื่อไล่เรียงราคาทองในช่วงเวลาเปิดตลาด ตามประกาศของสมาคมค้าทองคำก็พบความน่าสนใจ โดยวันจันทร์ที่ 29 กรกฏาคม เปิดตลาดราคาทองไม่เปลี่ยนแปลง ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะปรับขึ้น 50 บาท

 

ถัดมาวันอังคารที่ 30 กรกฏาคม ราคาทองผันผวนปรับขึ้นลงรวม 7 ครั้ง ปิดตลาดราคาคงที่

 

ต่อมาวันพุธที่ 31 กรกฏาคม ราคาทองปรับขึ้น 150 บาทต่อบาททองคำ และตลอดทั้งวันราคาปรับขึ้นลงรวม 11 ครั้ง

 

วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม ราคาทองปรับขึ้นทันที 250 บาทเมื่อเปิดตลาด โดยตลอดทั้งวันปรับขึ้นลงรวม 9 ครั้ง

 

วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม ราคาทองเปิดตลาดปรับขึ้น 150 บาทต่อบาททองคำ ขณะที่ทั้งวันปรับขึ้นลงรวม 10 ครั้ง ขยับ 200 บาท

 

และล่าสุดวันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม ราคาร่วงลง 300 บาทต่อบาททองคำทันทีที่เปิดตลาด

 

โดยทองแท่ง รับซื้อ 40,800 บาท ขายออก 40,900 บาท

 

ทองรูปพรรณ รับซื้อ 40,067 บาท 88 สตางค์ ขายออก 41,400 บาท

 

สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ถาม “นพ.กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ” ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก ถึงปัจจัยที่เอื้อต่อการปรับขึ้นของราคาทองในห้วงสัปดาห์ดังกล่าว โดย “นพ.กฤชรัตน์” กล่าวว่า การปรับขึ้นของราคาทอง สอดคล้องกับราคาทองคำในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งมีปัจจัยมาจากธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายน 2567

 

“ราคาทองในประเทศไทย พ้วงติดกับราคาทองของต่างประเทศอย่างชัดเจน โดยคำนวนจากราคาทองของตลาดโลกร่วมกับค่าเงินบาท สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งแต่ประมาณวันอังคารที่ราคาทองปรับขึ้น ก็มาจากสาเหตุความชัดเจนมากขึ้นที่เฟดจะลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้าในเดือนกันยายน”

 

นอกจากนี้ “นพ.กฤชรัตน์” กล่าวด้วยว่า วันนี้การปรับฐานของราคาทองได้สิ้นสุดลงแล้ว หลังจากก่อนหน้ามีแรงขายทำกำไรเกิดขึ้น ส่งผลให้ราคาทองรอบนี้ปรับขึ้นแรงและเร็ว

 

“ถ้าเรามาเกริ่นนิดนึงว่า ทำไมมันขึ้นแรง ก็ต้องตอบว่า เมื่อ 2 อาทิตย์ก่อน ก่อนที่จะเข้าอาทิตย์นี้ ในช่วงปลายเดือนกรกฏาคม ราคาทองคำปรับฐานลงมาแรงประมาณ 140 เหรียญ จากระดับ 2,465 ลงมาจนหลุด 2,400 ลงมา 2,350 ด้วยซ้ำไป การปรับตัวลดลงของ 2 สัปดาห์ก่อน ก็เรียกว่าเป็นเหมือนกับแรงเทขายทำกำไรและปรับฐาน ก็เรียกว่าเป็นการสิ้นสุดการปรับฐานของทองคำอีกครั้งหนึ่ง”

 

และเมื่อถาม “นพ.กฤชรัตน์” ว่า ความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่อาจจะทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังจากผู้นำกลุ่มฮามาสได้ถูกกองกำลังทหารอิสราเอลสังหารในประเทศอิหร่าน จะส่งผลต่อราคาทองหรือไม่ คำตอบที่ได้ น่าสนใจ

 

“ถ้าถามว่าข่าวสงครามอิสราเอลบุกฮามาสจะมีผลไหม ตอบว่าไม่มีผลเลย ถามว่าทำไมถึงแน่ใจ เพราะว่า ในช่วงที่บุกกันหนักๆ ตึงเครียด อิหร่านจะเริ่มตอบโต้ ราคาทองคำนิ่ง หรือ ราคาทองคำปรับตัวลดลงด้วยซ้ำ ในช่วงปลายเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา

 

ดังนั้นประเด็นหลักตอนนี้ ไปอยู่รวมอยู่ที่การขึ้นลงของดอกเบี้ยของเฟดและคอมเม้นท์ของเฟดเป็นหลัก ซึ่งทำให้ราคาทองตั้งแต่วันอังคาร ราคาเริ่มเข้าสู่ทิศทางขาขึ้น และค่อยๆปรับตัวสูงขึ้นเล็กๆน้อยๆ แปลว่าจริงๆแล้ว ราคาทองของตลาดโลกปรับขึ้นเร็วและแรง แต่ทองไทยขึ้นได้น้อยกว่า เนื่องจากเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็ว มาจากการอ่อนค่าของดอลล่าร์ เงินบาทแพง ก็เลยทำให้ราคาทองไทย ขึ้นเหมือนกัน แต่ขึ้นไม่เยอะเท่าตลาดโลก”

 

อย่างไรก็ตาม ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก กล่าวย้ำว่า ทองคำยังเป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุน และแนวโน้มของราคาก็ยังเป็นทิศทางขาขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาส 4 ปีนี้ ที่ราคาจะมีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก

 

“ดังนั้นโดยภาพหลัก ตอบได้ว่า ราคาทองคำ ยังเป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุนมากๆ และก็มีแนวโน้มเป็นทิศทางขาขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เชื่อว่าราคาทองคำ น่าจะโดดเด่นมากขึ้นกว่านี้อีกด้วยซ้ำครับ”

 

จากนี้ต่อไปจะต้องจับตาท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐในประเด็นการลดอัตราดอกเบี้ยอย่างใกล้ชิด เพราะนี่คือปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อราคาทองทั้งในตลาดโลกและราคาทองในประเทศนั่นเอง

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube