ก้าวไกลยุบหนอพองหนอ
ยังคงเป็นไปคนละทิศทาง “สัญญานชีพ” ระหว่าง “พรรคก้าวไกล” กับ “นายกเศรษฐา” ที่อยู่ในอาการ “ยุบหนอพองหนอ” โดยเฉพาะ “ก้าวไกล”ที่มาในทางถูกแทงหวยเก็งว่าโอกาสถูก “ยุบพรรค” มากกว่าจะรอด
แบบลุ้นว่าจะเกิดภาพ “เดจาวู” เหมือนครั้งที่ “ยุบพรรคอนาคตใหม่” ที่เกิดปรากฎการณ์ “วงแตก” มี “งูเห่าส้ม” ถูกกวาดต้อนจากพรรคการเมืองอื่นหรือไม่ทั้งในโหมด “คดีความ” ที่ปรากฎ “สัญญาน” ตั้งแต่ การไม่ไต่สวน “พยานปากเอก” ฝั่งก้าวไกลในรายของ “อ.สุรพล นิติไกรพจน์” ที่เป็น “กุนซือกกต.”
รวมถึงจังหวะไทม์มิ่งในวันตัดสินพรุ่งนี้ 7ส.ค.ไม่นับรวมอาการ “ดิ้นสู้” กับความพยายามแถลงกับประชาชนถึงคำแถลงปิดคดีและการจัดอีเว้นต์เดินสายต่างจังหวัดของ “พิธา” และ “ผู้คน” ในก้าวไกล และ อีเว้นต์
นัดมวลชน “ด้อมส้ม” มาร่วมกันฟังผลคำตัดสินที่ทำการพรรคก้าวไกล ไม่นับรวมผู้คนองค์กร “วงนอก” ทั้งในและต่างประเทศ ที่เข้ามาแจม เตือน “ฝ่ายอำนาจ” และฟังก์ชั่นในกระบวนการยุติธรรม ในเชิงไม่เห็นด้วยกับวิธีการ “ยุบพรรคการเมือง” ไม่ว่าจะเป็นฝั่ง สว.หรือท่าทีจากองค์กรต่างประเทศตั้งแต่ ยูเอ็นฯ จนถึง คณะทูต 18 ประเทศ
โดยเฉพาะกรณีท่าทีของคณะฑูต18ประเทศ ที่ปรากฏภาพการไปพูดคุยหารือกับ “พิธา” ที่ถูกนำมาทวิตXช่วงวันหยุดที่ผ่านมา(2ส.ค.)โดย “พิธา” โพสว่า
อุปทูตและเจ้าหน้าที่จากประเทศในยุโรป รวม 18 ประเทศที่ได้แลกเปลี่ยนกับตน และทีมก้าวไกลเป็นอย่างดี
โดยมีรายงานออกมาหลังจากนั้นทำนองเอกอัครราชทูต และอุปทูตจากหลายประเทศได้พบปะพูดคุยกับ “พิธา” และคณะจากพรรคก้าวไกลที่ทำเนียบเอกอัครราชทูตเยอรมัน เพื่อหารือเกี่ยวกับวิกฤติประชาธิปไตยในประเทศไทย และกรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดวันที่ 7 ส.ค.นี้ วินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกล
ที่ต้องไม่ลืมว่า ก่อนหน้านี้(30เม.ย.67) ก็เคยมีการส่งข้อความแสดงความกังวลถึง “รัฐบาลเศรษฐา” จาก “ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ” (ยูเอ็น) ในประเด็นการใช้ข้อกฎหมายของกกต.เพื่อยื่นยุบพรรคก้าวไกล ที่ถูกส่งถึงรัฐบาลไทยผ่านกลไกลพิเศษ ภายใต้ประเด็นหลัก 2 ด้าน คือ เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมรวมกลุ่มโดยสงบ
ซึ่งเอกสารระบุด้วยว่า การยุบพรรคก้าวไกล และการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรคเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายค้านและเป็นพรรคที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเยอะที่สุดอาจจะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบอบประชาธิปไตย พื้นที่สาธารณะ เสรีภาพในการแสดงออก
และยังทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อกระบวนการเลือกตั้งของประเทศไทย โดย “รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ” ยังเรียกร้องให้ประเทศไทยชี้แจงข้อกล่าวหาข้างต้นภายใน 60 วัน ที่ต่อมารัฐบาลได้มีการชี้แจงไปแล้ว กระทั่ง ilaw นำเปิดเผย จนเกิดประเด็นดราม่า
อย่างที่ ‘รัศม์ ชาลีจันทร์’ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศ ต้องออกมา ตอบโต้ iLaw ว่า บิดเบือนข้อเท็จจริงยืนยันรัฐบาลไม่เกี่ยวข้องฟ้องยุบก้าวไกล และไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมือง เช่นเดียวกับปมท่าทีทูต18ประเทศ ที่ทำให้ “น.ส.รัชดา ธนาดิเรก” อดีต สส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ออกมาตอบโต้แทนรัฐบาลเมื่อวาน
ทำนองอัดกลับว่าการแสดงออกของ 18 ทูตว่าผิดมารยาทที่แสดงท่าทีสนับสนุนเห็นใจ
และประกาศไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคก้าวไกล มีความหมิ่นเหม่เสมือนเป็นความพยายามแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของไทย ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่า การพิจารณาคดีดังกล่าวตั้งอยู่บนข้อกฎหมายข้อเท็จจริงและพฤติกรรมอันเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญ โดยพรรคก้าวไกลได้ดำเนินการต่อสู้คดีความตามวิถีของตนเองแล้ว และไม่มีกลไกใดเข้าขัดขวางการต่อสู้ดังกล่าว
เช่นเดียวกับ “นายกเศรษฐา”ที่ออกตัวไม่ทราบเนื้อหาที่พิธาคุยกับ ทูต 18 ประเทศ ระบบยุติธรรมและระบบการบริหารแยกชัดเจน ฝ่ายบริหารไม่มีสิทธิก้าวก่ายกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยก็เป็นกลางและเป็นสากล ได้รับความยอมรับจากทุกฝ่าย ขนาดตนที่ศาลนัดตัดสิน14ส.ค.ยังไม่ได้ไปคุยอะไร
ประเทศเรามีเอกราชต้องให้เกียรติ ส่วนความกังวลเรื่องหนังสือกระทรวงต่างประเทศที่ส่งไปยังสหประชาชาติ ถึงการยุบพรรคก้าวไกล และโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเนื้อหามีความรุนแรงนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกันการแปลต้องให้กระทรวงการต่างประเทศมาชี้แจงจุดยืนของเราไม่ก้าวก่ายระบบตุลาการ
และไม่ยอมให้ใครมาก้าวก่าย ขณะที่ “อ.วิษณุ” มอง ว่าการที่ทูต 18 ประเทศ คุย ‘พิธา’ เรื่อง ยุบพรรค ไม่ถือเป็นก้าวล่วงกิจการภายใน และว่าแม้หากผลออกทางลบ ก็ไม่กระทบภาพลักษณ์รัฐบาล
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews