การเมือง “ยุคอิ๊งค์” แก้รธน.จริยธรรมเพื่อใคร?
เดจาวูกลับมาอีกครั้งสำหรับการยื่น “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ของทั้ง “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคประชาชน” อดีตพรรคก้าวไกล ที่หนนี้ต่างกันก็ตรงที่ทั้ง 2 พรรคไม่ได้เป็น “ฝ่ายค้าน” ร่วมกัน
โดยเพื่อไทยกลายเป็นแกนนำ “รัฐบาล” ส่วน “พรรคเด็ก-ประชาชน” เป็น “ฝ่ายค้าน” ที่เคยมีความพยายามยื่นร่างแก้รัฐธรรมนูญมาโดยตลอดตั้งแต่สมัยรัฐบาลคสช. ยุค “นายกลุงตู่” ถึง 7 ครั้ง 7 ครา แต่ก็ไม่สามารถผ่านด่าน “ฝ่ายอนุรักษ์” มีเพียงร่างเดียวของฝ่ายรัฐบาลคือ “ประชาธิปัตย์” ผ่านเข้าไปสู่กระบวนการ เพราะเหตุติดเงี่ยงเงื่อนไขความระแวงจากฝ่ายรัฐบาลครั้งนั้นมากมายกับร่างของฝ่ายค้าน เพื่อไทย-ก้าวไกลเวลานั้น
กระนั้นเมื่อบริบททางการเมืองเปลี่ยนแปลงไป กระดานการเมืองไม่มี “สว.250” ที่ “หมดอายุ” ไปไม่มี “ลุง 3 ป.” ที่ลอยตัวออกจากกระดานไป เหลือเพียง “ลุงบ้านป่า” ที่ยังสัปยุทธนิติสงครามอยู่กับ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” หากแต่กลายเป็นมี “เพื่อไทย” ที่พลิกกลับมาเป็น “อนุรักษ์นิยมใหม่”
เพื่อการกลับมาของ “คนชั้น 14-ทักษิณ” ที่ต้องยอมพลิกขั้วเปลี่ยนข้างจาก “ฝ่ายประชาธิปไตย” มาร่วมกับ “พรรคร่วมรัฐบาลเดิม” ยุค “ลุงตู่” ดีด “พรรคเด็ก-ก้าวไกล” กระเด็นไปเป็น “ฝ่ายค้าน” และโดนยุบพรรคต้องตั้งพรรคใหม่เป็น “ประชาชน” แต่ด้วย “สัญญาหาเสียง” ที่มีการต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญทำให้ “เพื่อไทย” ต้องดำเนินการเช่นกันกับ “พรรคเด็ก” ที่ก็ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประเทศและเป้าแรกที่สำคัญคือ “รัฐธรรมนูญ60” ที่เป็น “ปัญหา”
กระทั่งมาถึงจุดที่ทั้ง 2 พรรค พากันยืนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในจุดที่ยืนคนละฝ่ายวันนี้ที่เพื่อไทยยื่นเสนอ 6 ประเด็นสำคัญ ส่วนประชาชนยื่น 2 ร่าง ทั้งแบบทั้งฉบับและแบบแก้ไขบางส่วนที่เป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญ แต่พอยท์สำคัญที่หลายฝ่ายจับตาว่าจะเกิดเอฟเฟ็กต์ คือประเด็นที่ 2 พรรครวมถึงบรรดา “นักการเมือง”
โดยรวมเห็นพ้องกันทั้งฝ่ายค้านรัฐบาล พ.ศ.นี้ที่มีภาพหลอนจากปรากฎการณ์ “สอย” “อดีตนายกฯเศรษฐา” ของ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ที่ต่อมาทำให้ “รัฐบาลอิ๊งค์” ต้องเกร็งกับการ “ร่อนตะแกรง” ตรวจสอบ “รัฐมนตรีคนดี” คือการแก้รัฐธรรมนูญในส่วนของ “จริยธรรม”
อย่างที่ในส่วนของเพื่อไทยมีการเสนอแก้ไขมาตรา 160 ว่าด้วยคุณสมบัติของรัฐมนตรีใน 3 ประเด็น คือ
(4) ว่าด้วยมีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ โดยแก้ไขให้เป็นไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ประจักษ์ว่า ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตโดยกำหนดให้ใช้บังคับตั้งแต่รัฐธรรมนูฉบับแก้ไขบังคับใช้
(5) ไม่มีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยแก้ไขให้ชัดเจนว่าต้องเป็นคดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการในศาลฎีกา
และ (7) ว่าด้วยไม่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกแม้คดีนั้นไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอลงโทษเว้นแต่ทำผิดโดยประมาท ความผิดลหุโทษหรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
แก้ไขให้นำกรณีดังกล่าวเป็นเหตุความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 แทนประเด็นที่ 3 แก้ไขกลุ่มมาตราที่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและจริยธรรม
ที่กำหนดเป็นคุณสมบัติของรัฐมนตรี
คือมาตรา 201 มาตรา202 มาตรา 222 มาตรา 228 มาตรา 232 มาตรา 238 และมาตรา 246 ที่สัญญานจากประเด็นข้อเสนอแก้ไขจริยธรรมเหล่านี้ “นักวิชาการ” ออกมาเตือนว่าสังคมอาจมองว่าเหมือนแก้ปัญหาของตัวนักการเมืองเอง โดยเฉพาะมีการมองไปถึงนักการเมือง
ที่มีคดีที่ก็รวมถึง “ทักษิณ”ที่ติดคดีเช่นกัน
อย่างที่ “อ.สมชัย” เตือนว่า ต้องระมัดระวังถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ไม่แก้ทั้งฉบับไม่ยอมให้มีสถาร่างรัฐธรรมนูฐ (สสร.) อาจเกิดข้อสงสัยจากสังคม ว่าสิ่งที่ทำเป็นการแก้เพื่อประโยชน์เฉาะหน้า
โดยเฉพาะความพยายามแก้กฎหมายหมวดจริยธรรมนี้เป็นการแก้แบบ “สุดซอย” คือแก้ทั้งแพ็กเกจทั้งคุณสมบัติ สส. คุณสมบัติรัฐมนตรี บทบาท ป.ป.ช. การลงมติของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งจะมีผลทำให้เกิดการปกป้องฝ่ายการเมืองไม่ให้ออกจากตำแหน่งโดยง่ายจากข้อหาทางจริยธรรม “จะเกิดความรู้สึกในหมู่ประชาชน ต้องระวัง คนอาจจะคิดว่าเอาอีกแล้วหรือแทนที่จะแก้เรื่องประโยชน์ของประชาชน กลับจะมาเอาประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก”
และว่าถ้าเพื่อไทยกับพรรคประชาชนจะร่วมมือก่อน เป็นเรื่องซึ่งต้องระวังสายตาข้างนอกจะมองว่าจับมือกันเพราะมีประโยชน์ร่วมกัน เพื่อให้คนของตัวเองไม่โดนโทษที่เกี่ยวกับจริยธรรมสังคมภายนอกจะติฉินนินทา เกิดการคัดค้านขึ้นมา ซึ่งอาจกลายเป็นจุดตายจุดหนึ่งของทั้งสองพรรคพร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ว่าจะแก้ทั้งฉบับหรือแก้แค่หมวดจริยธรรมปลายทางที่ต้องทำประชามติอยู่ดี
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews