ย้อน 7 เหตุโศกนาฏกรรม อาถรรพ์เดือนตุลาฯทมิฬ
เดือนตุลาคม ถูกเปรียบเป็น ตุลาอาถรรพ์ หรือตุลาฯทมิฬ เพราะมีเหตุการณ์เลวร้าย มีความสูญเสีย มีกลิ่นคาวเลือดและหยดน้ำตา พรั่งพรูตลอดทั้งเดือน ผ่าน 7เหตุโศกนาฏกรรมที่สำคัญ
เริ่มจากเหตุการณ์ที่1. วันที่1ตุลาคม 2567 เหตุการณ์รถบัสนักเรียน โรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จ.อุทัยธานี เกิดไฟไหม้ มีผู้เสียชีวิต 23 คน เป็นครู 3 คน และนักเรียน 20 คน ส่วนผู้บาดเจ็บ 5 คน ในจำนวน อาการสาหัส 3 คน เป็นอุบัติเหตุครั้งรุนแรงมากที่ทำให้ชาวไทยจิตตกไประยะหนึ่ง
เหตุการณ์ที่ 2. วันที่ 3ตุลาคม 2566 หรือ1ปีที่แล้ว เหตุกราดยิงที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน เขตปทุมวัน โดยขณะนั้นผู้ก่อเหตุเป็นเด็กชายอายุ 14 ปี นักเรียนโรงเรียนทางเลือกชื่อดัง ใช้ปืนแบลงก์กันดัดแปลง กราดยิงภายในศูนย์การค้าสยามพารากอน มีผู้เสียชีวิต 3 ราย โดยเสียชีวิตทันที 1 ราย และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 2 ราย และได้รับบาดเจ็บอีก 4 ราย หลังเหตุการณ์มีการถอดบทเรียนการใช้อาวุธปืนในเด็ก และคุ้มเข้มการนำอาวุธพกพาไปยังสถานที่สาธารณะ
เหตุการณ์ที่ 3. วันที่ 6 ตุลาคม 2565 หรือ2ปีที่แล้ว เหตุกราดยิงและใช้อาวุธมีดไล่ฟันในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์ จ.หนองบัวลำภู มีผู้เสียชีวิต 38 คน รวมผู้ก่อเหตุ และเป็นเด็กเล็ก 24 คน หลังก่อเหตุคนร้ายขับรถยนต์หลบหนี ระหว่างทางผู้ก่อเหตุยิงผู้อื่นเสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคน สุดท้ายผู้ก่อเหตุฆ่าภรรยา ลูกเลี้ยงและฆ่าตัวตายตาม หลังเหตุการณ์มีการถอดบทเรียนเรื่องการใช่อาวุธ และการเข้างวดรีกษาความปลอดในศูนย์เด็กเล็ก หรือโรงเรียนต่างๆ
เหตุการณ์ที่ 4.วันที่ 7 ตุลาคม 2551 หรือ16 ปีที่แล้ว เป็นวันสลายการชุมนุมของสนธิ ลิ้มทองกุล และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเป็นวันที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จะต้องกล่าวแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เกิดการปะทะกันรุนแรงที่สุด ระหว่างเจ้าหน้าที่กับกลุ่มผู้ชุมนุม ที่ปิดล้อมโดยรอบอาคารรัฐสภา ซึ่งการสลายการชุมนุมในครั้งนั้น ทำให้ผู้ชุมนุมบาดเจ็บ 443 คนและเสียชีวิต 2 คน หนึ่งในนั้นคือ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือน้องโบว์
เหตุการณ์ที่ 5.วันที่ 6ตุลาคม 2519 หรือ 48 ปีที่แล้ว การสังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นการปราบปราม และปะทะอย่างรุนแรงบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และท้องสนามหลวง ซึ่งกลุ่มนักศึกษาต่อต้านการเดินทางกลับประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี พบผู้เสียชีวิต 45 คนมีทั้งถูกยิงด้วยอาวุธปืน ถูกทุบตี และถูกเผา แต่สถิติไม่เป็นทางการจากมูลนิธิป๋วยคาดว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน
เหตุการณ์ที่ 6.วันที่ 14 ตุลาคม 2516หรือ51 ปีที่แล้ว วันมหาวิปโยค การปราบปรามผู้ประท้วง ที่ลุกฮือ ต่อต้าน ระบอบเผด็จการทหาร และการฉ้อราษฎร์บังหลวง บริเวณถนนราชดำเนินอย่างรุนแรงโดยรัฐบาลนายกรัฐมนตรีจอมพลถนอม กิตติขจร จนมีผู้เสียชีวิตกว่า70คน บาดเจ็บเกือบ900คน และมีผู้สูญหายอีกเป็นจำนวนมาก ต่อมาพ.ศ. 2546 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์กำหนดให้วันที่ 14 ตุลาคมของทุกปีเป็น “วันประชาธิปไตย” เป็นวันสำคัญของชาติ
เหตุการณ์ที่ 7.วันที่ 25 ตุลาคม 2547 หรือ 20ปีที่แล้ว กรณีตากใบ คดีจะขาดอายุความ 25 ต.ค. 2567 นี้ โดยเป็นเหตุจลาจล เริ่มต้นจากการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านที่ถูกจับกุมตัว โดยทหารปิดล้อมสลายการชุมนุม จับผู้ชุมนุม1,370 คน มีผู้เสียชีวิตกว่า100 คน ล่าสุดศาลนราธิวาส ออกหมายจับรวม 6 คน ระดับบิ๊ก ทั้งนายทหารและนายตำรวจระดับนายพล รวมไปถึง สส.เพื่อไทย พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ด้วย
ทั้งนี้โศกนาฏกรรมตากใบเกิดขึ้นหลังจากเหตุปล้นปืน413 กระบอก ค่ายปิเหล็ง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อต้นเดือนมกราคม 2547 เพื่อนำไปใช้ก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ และเหตุการณ์นี้ เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ ครั้งแรก และเป็นที่มาของคำว่า “โจรกระจอก” หล่นจากปากผู้นำประเทศ อันนำมาสู่การก่อความไม่สงบในดินแดนปลายด้ามขวาน ตั้งแต่บัดนั้นจนถึงวันนี้ 20ปี แล้ว ไฟใต้ยังไม่เคียงกับคำว่าสุขสงบและสันติภาพ เสียที!
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews