สำรวจน้ำเจ้าพระยา-ดร.เอ้ลุยเองแนะรบ.ทำระบบป้องกัน
วันนี้ทีมข่าว INN ลงพื้นที่สำรวจความพร้อมของประชาชนในการรับมือน้ำทะเลหนุน และ น้ำเหนือ ที่บริเวณตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ถือเป็นอีกจุดหนึ่งที่อยู่หลังแนวป้องกันริมน้ำเจ้าพระยา และมักจะเกิดปัญหาน้ำทะลักท่วมในทุกปี
ซึ่งจากการสอบถามประชาชนยอมรับว่าปีนี้รู้สึกเบาใจ เพราะมีการวางระบบป้องกันระยะสั้นไว้ตลอดแนว คาดว่าน้ำคงไม่ทะลักเข้าตลาด ขณะเดียวกัน พรรคประชาธิปัตย์ นำโดย ดร.เอ้ สุชัชวีร์ พร้อมคณะก็ลงพื้นที่ เพื่อวางแนวทาง เตรียมเสนอรัฐบาลในการแก้ปัญหาระยะยาว ไม่ให้กรุงเทพจมในอนาคต
จากสถานการณ์พื้นที่ทางภาคเหนือมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำท่วม และส่งผลกระทบให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับช่วงระหว่างวันที่ 13-24 ตุลาคม 2567 มีภาวะน้ำทะเลหนุน ก็อาจทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก
ทาง กทม. ได้มีการติดตามสถานการณ์และประสานข้อมูลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมชลประทาน ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อยู่ตลอดอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำที่อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในบางพื้นที่ของกรุงเทพมหานครได้
ทั้งนี้ กทม. มีแนวคันป้องกันน้ำท่วม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อยและคลองมหาสวัสดิ์รวมระยะทาง 88 กิโลเมตรกิโลเมตร เชื่อมต่อกับพื้นที่ กทม. 7 เขต 16 จุด รวม 731 หลังคาเรือน ซึ่ง กทม. เตรียมพร้อม 2+3 มาตรการ รับมือสถานการณ์น้ำเหนือ น้ำหนุน น้ำฝน ให้กับชาวกรุงโดยมั่นใจว่า น้ำไม่ข้ามแนวเขื่อนป้องกันริมเจ้าพระยา และขอย้ำอย่าหลงเชื่อข่าวบิดเบือนว่าน้ำจะท่วม
โดยวันนี้ ทีมข่าวลงพื้นที่สำรวจที่บริเวณ ศาลเจ้าโรงเกือก ตลาดน้อยเขตสัมพันธวงศ์ ถือเป็นอีกหนึ่งจุดที่อยู่นอกคันกั้นน้ำและเมื่อถึงช่วงน้ำเหนือและน้ำทะเลหนุน น้ำจะทะลักเข้าท่วมทุกปี
จากการสอบถาม นายบุญชู ภมรวรานนท์ ผู้ดูแลศาลเจ้าโรงเกือก ยอมรับว่า การแก้ปัญหาระยะสั้นก็ทำได้ระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่พบ แม้น้ำไม่ได้ทะลักเข้าท่วม แต่อาคารบางส่วนก็ทรุดตัวลง หากเกิดถล่มมาจริง ก็ไม่รู้จะไปเรียกร้อง หรือตามหาความรับผิดชอบจากใคร แต่ปีนี้รู้สึกมั่นใจและเบาใจที่น้ำจะไม่ทะลักท่วมชุมชนตลาดน้อย เพราะได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นจาก กทม. แล้ว
ขณะเดียวกัน นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะดูแล กทม. พร้อมทีมงานลงพื้นที่สังเกตสถานการณ์ระดับน้ำเจ้าพระยา ที่ชุมชนตลาดน้อยด้วยเช่นกัน ซึ่งทาง กทม. ได้นำกระสอบทรายมาวางเป็นแนวกั้นน้ำ พร้อมกับติดตั้งเครื่องสูบน้ำไว้ แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นได้เท่านี้จริงๆ
และจากนี้ไป กทม. ก็ไม่ได้จะปลอดภัยจากน้ำท่วม โดยเฉพาะช่วงปลายปี กทม. จะมีความเสี่ยงมากขึ้น ที่มีทั้งน้ำเหนือ น้ำทะเลหนุน และน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ ก็จะดันระดับน้ำเจ้าพระยาให้สูงขึ้น สุดท้ายในอนาคต กทม. ก็จะจมน้ำ
ดังนั้น การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ควรวางแผนระยะกลาง คือ การทำแก้มลิงใต้ดิน ไว้ในจุดเสี่ยงสำคัญ เพื่อกักเก็บน้ำในช่วงน้ำสูง ส่วนปัญหาระยะยาวต้องไปแก้ที่ต้นตอ คือ ปากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ควรมีระบบเปิด-ปิดน้ำ เหมือนในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น เนเธอร์แลนด์ อิตาลี สิงคโปร์ ซึ่งเขาใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปีในการสร้าง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews