หลังจากรัฐบาลแจกเงินหมื่นให้กลุ่มเปาะบาง ได้กันอย่างจุกๆ 14.55 ล้านคน รวยกันถ้วนหน้า หนุนจีดีพีไทยโตขึ้นอีกอย่างน้อย 0.2-0.3%
ขณะที่การแจกรอบใหม่ทางรัฐบาลโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง “นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” ยืนยันล่าสุดว่า จัดให้แน่นอน แต่จะแจก 10,000 บาททั้งก้อน หรือมีการแบ่งทยอยจ่ายนั้น ก็ขอให้รอความชัดเจนจากที่การประชุมคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานก่อน ซึ่งจะมีกำหนดนัดประชุมนัดแรก ภายในปลายเดือนตุลาคม – ต้นเดือนพฤศจิกายน 2567
ทั้งนี้ การแจกเงิน 1 หมื่นบาทในรอบที่ 2 นั้น ในมุมมอง “ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์” อดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. สะท้อนเรื่องดังกล่าวไว้อย่างสนใจ โดยบอกกับ สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า การแจกเงินดังกล่าว ควรที่จะมีเงื่อนไขในการรับ โดยประชาชนจะต้องนำเงินไปเสริมสร้างความสามารถในการทำงาน การหารายได้ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย
“ผมมีความเห็นมาโดยตลอดว่าเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ควรจะทำไปพร้อมกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของทักษะ ฝีมือของแรงงาน และของผู้คนทั่วไป เพราะฉะนั้นจะสามารถที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการแจกเงินก็ควรที่จะมีเงื่อนไขในเรื่องที่ว่า ผู้รับเงินควรจะมีโอกาสได้ปรับปรุงทักษะฝีมือแรงงานระดับการศึกษาต่างๆพร้อมกันไปด้วย จะดีมากเลย ไม่ใช่ว่ากระตุ้นเศรษฐกิจให้ใช้เงินอย่างเดียว แต่สามารถที่จะใช้เงินไปในทางเสริมสร้างความสามารถในการทำงาน การหารายได้ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย ก็จะสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ถูกต้องได้เลย”
นอกจากนี้ “ศ.ดร.พรายพล” ยังได้กล่าวถึงการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกนง. 0.25% ด้วยว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน เอื้อต่อการลดอัตราดอกเบี้ย อีกทั้งธนาคารกลางหลายๆแห่ง ก็ได้มีการปรับอัตราดอกเบี้ยแล้ว อาทิธนาคารกลางสหรัฐฯ ธนาคารกลางยุโรป ที่ล่าสุด ECB มีมติลดดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 3.25%
“เป็นทิศทางที่ถูกต้อง เพราะว่าถ้าเรายังฝืนไม่ลดอยู่ ก็จะมีผลเสียหลายอย่าง 1. ค่าเงินบาทอาจจะแข็งเกินไป 2. ภาระหนี้ต่างๆ ก็จะไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร แล้วเงินก็จะเริ่มไหลออก แล้วก็จะเป็นผลเสีย เพราะฉะนั้นถ้าถามผม ว่า ทิศทางที่ถูกต้อง ใช่ไหม ผมก็ว่าน่าจะถูกต้องแล้ว”
ขณะที่ KKP Research วิเคราะห์ว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญความท้าทายจากปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาว แต่ทางศูนย์วิจัยก็ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจสำหรับปี 2567 ขึ้นจาก 2.6% เป็น 2.8% และปี 2568 ขึ้นจาก 2.8% เป็น 3% เพื่อสะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้น จากสองปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ การแจกเงินให้กลุ่มเปราะบางของภาครัฐในช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 และงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมที่ตั้งรอไว้สำหรับปี 2568
ทั้งนี้ นโยบายแจกเงินของรัฐบาลในไตรมาส 4 ปีนี้ โดยมีการแจกเงินจำนวน 142,000 ล้านบาทให้กับกลุ่มเปราะบางหรือคิดเป็นประมาณ 0.7% ของ GDP ประเมินว่า มีผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมที่ประมาณ 0.3 โดยประเมินว่าการแจกเงินในรอบแรกส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจประมาณ 0.2-0.3 และมีแนวโน้มส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปีนี้เติบโตได้เกิน 4%
นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2567/2568 ยังมีการอนุมัติงบประมาณอีก 150,000 – 180,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 0.8% – 0.9% ของ GDP ซึ่ง KKP Research ประเมินว่าการแจกเงินก้อนที่สองจะมีการใช้งานได้ในช่วงไตรมาส 2 ถึง ไตรมาส 3 ปี 2568 และน่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยโตขึ้นได้ประมาณ 3% ในปี 2568
อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการดำเนินนโยบายของภาครัฐ จากหลายนโยบายที่ยังไม่มีแผนการดำเนินการที่ชัดเจน และข้อจำกัดด้านหนี้สาธารณะของภาครัฐ โดยในสถานการณ์ปัจจุบันหนี้สาธารณะต่อ GDP ของภาครัฐกำลังปรับตัวเพิ่มขึ้นเข้าสู่ระดับ 70% ของ GDP ในขณะที่ รายได้ภาษีต่อ GDP มีแนวโน้มลดลงอีกด้วย
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews