วัดใจยึดแบงค์ชาติ-สุมไฟ “อีลีท” ต้านรัฐบาล?
อีกโจทย์ใหญ่ที่เห็นเงียบๆแต่ก็น่าที่จะต้องกังวลไม่น้อยหาก “รัฐบาลเพื่อไทย” โดย “นายกฯอิ๊งค์” ยังไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหมรณ์ เดินหน้า “ลุยถั่ว” ในการ “คานอำนาจ” กับ “แบงค์ชาติ”
ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลมาตั้งแต่การค้านนโยบายเรือธง ดิจิทัลวอเล็ตยุค “นายกเศรษฐา” ที่ว่ากันว่าเป็นอีกปัจจัยเหตุที่ไหลไปสู่ “อุบัติเหตุการณ์เมือง” ของ “เศรษฐา” ที่ไปโดนสอยในเรื่องตั้ง “ทนายถุงขนม” เป็นรัฐมนตรี
โดยหมุดหมายที่หลายฝ่ายจับตาปฏิกริยาคือวันจันทร์ที่ 4 พ.ย.ที่จะมีการประชุมเลือก “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ”ซึ่งมีรายชื่อของ “ฝ่ายการเมือง” พรรคเพื่อไทยเสนอเข้ามาอย่าง “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ที่ก็เคยเป็น “โจทย์เก่า” กับ “คนแบงค์ชาติ” มาตั้งแต่สมัยดูกระทรวงการคลัง
โดยหนนี้ ชื่อของ “กิตติรัตน์” ถูกเสนอเข้ามาใน 3 รายชื่อเพื่อชิงเก้าอี้ประธานบอร์ดแต่ก็ถูก “อดีตคนแบงค์ชาติ” เคลื่อนไหวคัดค้าน เพราะเชื่อว่า “ฝ่ายการเมือง” ใน “รัฐบาลเพื่อไทย” ไม่พอใจ “แบงค์ชาติ” โดยเฉพาะตัว “ผู้ว่าแบงค์ชาติ” ที่เห็นไม่ตรงกับรัฐบาลทั้งนโยบายเรือธง และเรื่องของนโยบายดอกเบี้ย มาตั้งแต่ครั้ง “นายกเศรษฐา”
จนมาถึงยุค “นายกอิ๊งค์” ที่มีการส่งสัญญานจาก “รัฐมนตรีเศรษฐกิจ” ของ “เพื่อไทย”อย่าง “พิชัย” และอีกหลายๆคน รวมถึงจาก “นายกฯอิ๊งค์” เอง โดยปรากฎการณ์ที่ถูกจับตาล่าสุดคือ การออกมาของ อดีตผู้ว่าแบงค์ชาติอย่างน้อย 4 คน และบรรดานักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศ รวม 227 คน ในนามกลุ่มกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ที่มีการออกมาเคลื่อนไหว(30ต.ค.)
โดยการออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยแบงค์ชาติจะถูกแทรกแซงจากกลุ่มการเมือง เพื่อผลประโยชน์ระยะสั้น ทำลายเสถียรภาพและความน่าเชื่อถือของประเทศในระยะยาว
โดยแถลงการณ์คัดค้านการครอบงำธนาคารแห่งประเทศไทยโดยกลุ่มการเมือง ในวันที่ 4 พ.ย.นี้ จะมีการประชุมเพื่อคัดเลือกประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ2คนใน บอร์ดแบงค์ชาติ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางว่ารัฐบาลได้เสนอชื่อบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับฝ่ายการเมืองให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย
โดยเรียกร้องให้คณะกรรมการคัดเลือกที่กำลังจะทำการพิจารณาในวันที่ 4 พ.ย. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต เที่ยงธรรม โปร่งใส และมีธรรมาภิบาล โดยไม่ยอมรับแรงกดดันจากการเมือง เพื่อรักษาสถาบันที่สำคัญอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยที่สังคมไทยในอดีตได้ร่วมกันพัฒนาและปกป้องมาอย่างดี พร้อมกันนี้เราขอเชิญชวนภาคส่วนอื่นในสังคมร่วมแสดงจุดยืน
โดยความเคลื่อนไหวนี้ถูกจับตา ผลกระทบกับรัฐบาล ที่พยายามตีฝ่าในเรื่องเศรษฐกิจ โดยไม่แตะการเมือง แม้จะมีความพยายามจากฝ่ายการเมืองตรงข้าม เคลื่อนไหวพยายามหา “จุดอ่อน” เข้าตี ทั้ง “ผู้นำจิตวิญญาณเพื่อไทย” อย่าง “ทักษิณ” และ “ผู้นำรัฐบาลเพื่อไทย” อย่าง “นายกฯอิ๊งค์” ที่โดนนักร้องหลายค่ายจองกฐินถล่มหลายเรื่อง
แต่ที่ไฮไลท์ มีน้ำหนักคือ คำร้อง การครอบงำพรรคเพื่อไทยและ6 พรรคร่วมรัฐบาล และคำร้อง พฤติกรรมล้มล้างการปกครอง รวมถึงคดี “คนชั้น14” ที่ไปรออยู่ในปปช.ที่ทุกเรื่องเชื่อมโยงกลับมาที่รัฐบาล และ “นายกฯอิ๊งค์” โดยมี “ไทม์มิ่ง” กำหนดไว้ว่ารัฐบาลจะอวสานใน 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. แม้จะมีกระแส “ดิไอคอน” จะช่วยชะลออยู่บ้าง
ยิ่งเมื่อมามีเรื่อง “227นักวิชาการ” และ “อดีตผู้ว่าแบงค์ชาติ” ที่ถูกมอง ว่าอยู่ใน กลุ่มอีลีทชนชั้นนำในสังคม และกลุ่มเทคโนแครต ที่สามารถชี้นำทิศทางสังคมได้ ออกมาเคลื่อนไหวก็ยิ่งถูกจับตา โดยเฉพาะ ยังคงมีท่าทีจาก พรรคเพื่อไทย ว่าไม่สนใจความเคลื่อนไหวดังกล่าว เพราะกลุ่มชนชั้นนำทางสังคมไทยเหล่านี้ ถูกมองว่า มี “น้ำหนัก” ต่อรัฐบาลในทุกยุคที่ผ่านมา
แม้กระทั่งในสมัย “รัฐบาลทักษิณ” ก็ได้กลุ่มชนชั้นนำให้การสนับสนุนจนประสบความสำเร็จก่อนที่จะถูกขับไล่ก็มาจากกลุ่มชนชั้นนำเหล่านี้เช่นกันหลังจากที่ครั้งนั้น “ม็อบพันธมิตร” จุดติดจากประเด็นการทุจริตของรัฐบาล ยิ่งมา ณ พ.ศ.นี้ แม้ “รัฐบาลอิ๊งค์” จะเพิ่งเริ่มต้นต่อจาก “เศรษฐา” แต่ก็เจอทั้ง “แนวต้าน”ที่ก่อตัวจาก “โจทรย์เก่า” ขบวนการต้านระบอบทักษิณ
กระทั่งมาถึงจุดที่เป็นประเด็นกับแบงค์ชาติจนมีการออกมาของ “กลุ่มอีลีค” และ “กลุ่มเทคโนแครต” ที่ส่งสัญญานไม่ไว้วางใจฝ่ายการเมืองที่พยายามแทรกแซงแบงค์ชาติ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้เคยสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองกับหลายรัฐบาลที่ผ่านมาแล้ว
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews