เงินหมื่นจ่ายหนี้-ยึดรถกระบะพุ่ง
หนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต รวมถึงหนี้นอกระบบ ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจปากท้องของผู้คนได้เป็นอย่างดี
จากข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร ระบุว่า ไนไตรมาสสอง ปี 2567 ยอดคงค้างสินเชื่อบุคคลที่ค้างชำระเกิน 90 วันขึ้นไป มีจำนวนบัญชี 9.6 ล้านบัญชี เป็นมูลค่ากว่า 1.16 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 8.48 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.01 ของไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวยังเพิ่มขึ้นในสินเชื่อทุกวัตถุประสงค์
ทั้งนี้ หนี้ NPL ที่เกิดขึ้นของครัวเรือนส่วนใหญ่ ร้อยละ 71 อยู่ที่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และเมื่อพิจารณาภาพรวมการขยายตัวของหนี้ NPL ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 จะพบว่า มีสาเหตุการขยายตัว มาจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก
นอกจากนี้ หากพิจารณาสินเชื่อที่ค้างชำระระหว่าง 30 – 90 วัน หรือ SMLs มีมูลค่าประมาณ 5 แสนล้านบาท หรือมีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 3.66ปรับลดลงจากร้อยละ 4.72 ของไตรมาสก่อน แต่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังเป็นสินเชื่อประเภทเดียวที่มีสัดส่วนหนี้ SMLs ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น
และจากความกังวลของประชาชนต่อภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ภาพรวมยอดจำหน่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในประเทศหดตัว และจากสถานการณ์หนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ก็ทำให้สถาบันการเงินระมัดระวังในการพิจารณาสินเชื่อหรือให้วงเงินกู้น้อยลง
โดย “นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์” ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. กล่าวกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ขณะนี้สถาบันการเงินเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากยังมีการยึดรถโดยเฉพาะอย่างยิ่งรถกระบะ
ซึ่งจากการสอบถามไปยังโชว์รูมรถต่างๆ ก็ได้ให้ข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจว่า ยอดปฏิเสธสินเชื่อรถเพิ่มมากขึ้นถึง 60-70% ส่งผลให้สภาอุตสาหกรรมฯ ได้ปรับลดเป้าผลิตรถยนต์ลงอีก 200,000 แสนคัน ในเดือนตุลาคม 2567 เป็น 1,500,000 คัน จาก 1,700,000 คัน โดยปรับการผลิตเพื่อขายในประเทศลดลงจาก 550,000 คัน เป็น 450,000 คัน และ การผลิตเพื่อส่งออกลดลงจาก 1,150,000 คัน เป็น 1,050,000 คัน
“ทางด้านรถปิกอัพของเรา โดนปฏิเสธเรื่องการกู้ เพื่อที่จะซื้อรถกระบะก็ค่อนข้างหนักมาก แค่ 10 เดือนนี่ก็ลดลงไปแล้วประมาณเกือบ 90,000 คัน ปีที่แล้วก็หายไปแล้ว 120,000 กว่าคันเพราะฉะนั้นดูแล้วน่าที่จะไม่ได้ตามเป้าที่เราตั้งไว้ที่ 550,000 คัน ก็เลยต้องปรับเป้าลงไปอีก 100,000 คัน เป็น 450,000 คัน”
“นายสุรพงษ์” กล่าวว่า วันนี้สิ่งสำคัญของรัฐบาลก็คือต้องทำให้เศรษฐกิจเติบโต เพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และต้องขอบคุณรัฐบาลที่ให้เงิน 1 หมื่นบาทแก่ประชาชน ซึ่งส่วนหนึ่งก็นำไปชำระหนี้สิน ทำให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนดีขึ้น
“ต้องทำให้เศรษฐกิจของเราเติบโต การที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโต ก็คนไทยต้องมีงานทำมากขึ้น มีรายได้มากขึ้นเพื่อที่จะเอาไปจับจ่ายใช้สอย ซื้อสินค้าอื่นแล้วก็เอามาชำระหนี้ ก็ต้องขอบคุณรัฐบาลชุดนี้ที่อนุมัติให้เงินที่แจก 10,000 บาทแรกให้เอาไปชำระหนี้ ซึ่งเห็นมีข่าวว่าประมาณ 9% กว่าๆ เอาไปชำระหนี้ ก็ทำให้หนี้ครัวเรือนของเราตอนนี้ไม่ถึง 90% แล้ว จีดีพีของเราไตรมาสสาม ก็เติบโตขึ้นมาได้ 3% ก็ต้องขอบคุณภาครัฐ”
นอกจากนี้ “นายสุรพงษ์” ยังได้กล่าวถึงการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือนตุลาคม 2567 ส่งออกได้ 84,334 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 5.08% แต่ลดลงจากเดือนตุลาคม 2566 ที่ 20.23% ส่งออกลดลง เพราะฐานสูงในเดือนเดียวกันของปี 2566 ที่ส่งออกถึง 105,726 คัน
ส่งผลให้ส่งออกลดลงทุกตลาด ที่ต้องจับตา คือ ตลาดออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และ ยุโรปที่สงครามอิสราเอลกับฮามาสขยายมากขึ้น อาจจะส่งผลกระทบการส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวน้อยลง อีกทั้ง ความขัดแย้งที่ต้องติดตาม คือ สงครามยูเครนกับรัสเซียที่อาจขยายไปประเทศอื่น ซึ่งกระทบการส่งออกรถยนต์ และ สินค้าอื่นๆ
จากนี้ต่อไปจะต้องจับตานโยบายการแก้หนี้ภายใต้การนำของรัฐบาล “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาวนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews