ชง “อิ๊งค์” สูตรเด็ดดันศก.โต
เปิดแผนขับเคลื่อนเพิ่มจีดีพีปี 2568 ภายใต้อุตสาหกรรมยานยนต์ที่สุดจะท้าทาย ล่าสุด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. ย้ำถึงความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องตั้งกองทุนมูลค่า 5,000 ล้านบาท เพื่อรองรับความเสี่ยง พร้อมกับส่งเสริมให้สถาบันการเงินพิจารณาการปล่อยสินเชื่อรถกระบะเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้นปีละ 100,000 คัน หลังจากก่อนหน้านี้สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อนสินเชื่อส่งผลกระทบต่อยอดขายรถกระบะในประเทศ
โดย “นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์” ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ปี 2568 ต้องรอดูนโยบายของรัฐบาลว่าจะมีออกมาขับเคลื่อนในรูปแบบใด
แต่สำหรับมุมมองของภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐจัดตั้งกองทุนมูลค่า 5,000 ล้านบาท หนุนให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อรถกระบะได้เพิ่มขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.ได้ทำสมุดปกขาวยื่นต่อนายกรัฐมนตรีไปแล้ว
“ยอดขายในประเทศก็ต้องดูว่ารัฐบาลจะเข้ามาช่วยเหลือแค่ไหน ที่ทางกกร.เสนอไปว่าให้ตั้งกองทุน 5,000 ล้าน เพื่อที่จะให้พวกสถาบันทางการเงินปล่อยสินเชื่อรถกระบะให้ได้มากกว่าปีที่แล้ว 100,000 คัน ถ้าเป็นเช่นนี้ก็จะได้วินๆด้วยกันทั้งสองฝ่าย ก็คือรัฐบาลก็ได้ภาษีมากกว่ากองทุน 5,000 ล้านด้วยซ้ำไป
แล้วก็ฝ่ายคนงานก็จะได้มีงานทำเต็มที่ เพราะตอนนี้ก็ทำงานกัน 3 วันบ้าง 4 วันบ้าง รับเงินเดือน 75% เพราะว่ายอดขายรถกระบะ 2 ปีที่ผ่านมา ลดลงไปตั้ง 200,000 กว่าคัน คิดดูซิว่าจำนวนลดไป 200,000 กว่าคัน สาหัสแค่ไหน”
“นายสุรพงษ์” ยังได้อธิบายเพิ่มเติมถึงผลลัพธ์ของกองทุนดังกล่าวถ้ามีการจัดตั้งขึ้น ซึ่งจะทำให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นอีก
“ทำไมถึงบอกว่า รัฐจะได้ภาษีมากกว่ากองทุน 5,000 ล้านบาท เพราะว่าสมมุติว่ารถกระบะคันละ 600,000 ถ้าขายมากกว่าปีที่แล้ว 100,000 คัน ก็จะได้เป็นเงิน 6 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้ 6 หมื่นล้านบาท เสียภาษีสรรพสามิต 3% ก็คือ 1,800 ล้านบาท
แล้วก็เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จาก 6 หมื่นล้าน ก็จะเป็น 4,200 ล้าน จำนวนนี้ 4,200 ล้านบาท บวกกับ 1,800 ล้าน ก็เป็น 6,000 ล้าน จำนวน 6,000 ล้าน ยังไม่รวมภาษีเงินได้นิติบุคคล พวกซัพพลายเชนทั้งหลาย ที่ทำงานมากขึ้น ที่ผลิตของขายได้มากขึ้น แล้วก็มีกำไรมากขึ้น อันนี้ก็คือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่รัฐจัดเก็บได้”
โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. ย้ำอีกว่า เมื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ดีขึ้น ก็จะหนุนให้อุตสาหกรรมต่างๆดีขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้เมื่อแรงงานมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ก็จะส่งผลต่อเศรษฐกิจที่จะเติบโตได้มากกว่า 3%
“ทางด้านอุตสาหกรรมก็จะมีพวกแรงงานอยู่ประมาณ 16% ของแรงงาน 40 ล้านคน แล้วก็มีมูลค่าประมาณ 30% ของเศรษฐกิจไทยหรือว่าจีดีพีไทย เพราะฉะนั้นพวกนี้ก็จะมีกำลังซื้อก็จะได้ไปกินไปเที่ยว หรือซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆได้มากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมอื่นๆก็มีรายได้เพิ่มขึ้น เงินก็หมุนเวียนเข้าสู่ในระบบมากขึ้น และทำให้เศรษฐกิจของเราโตมากกว่า 3% แน่นอนเพราะว่าซัพพลายเชนของรถยนต์มีมาก”
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นพ. พรหมินทร์ เสิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง นโยบายของรัฐบาลในปี 2568 เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวมากกว่า 3% โดยมีแผนเร่งผลักดันดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ด้วยการสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Future Industries) คือ
1) การลงทุนด้านศูนย์ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ AI ขนาดใหญ่ (Data Center), 2) ยานยนต์ไฟฟ้า (EV), และ 3)ระบบเกษตรแม่นยำ อุตสาหกรรมอาหารที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ (Food Technology) ทั้งนี้ รัฐบาลจะปรับปรุง แก้ไขกฎหมาย กฏระเบียบที่เก่า ล้าสมัย เพื่ออำนวยความสะดวก รองรับการลงทุนทั้งจากในและต่างประเทศ
จากนี้ต่อไปจะต้องจับตาการเดินหน้าสร้างความเหนือชั้นให้กับเศรษฐกิจไทย ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” อย่างใกล้ชิด เพราะการเพิ่มขึ้นของจีดีพี ย่อมสะท้อนถึงฝีไม้ลายมือในการบริหารประเทศนั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews