Home
|
ข่าว

ท็อป 5 ภัยพิบัติไทย ความสูญเสียที่ไม่มีวันลืม

 

 

 

หลังแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่เมียนมา ส่งผลกระทบมาถึงไทย ทำให้ตึกที่กำลังก่อสร้างในกทม.พังถล่มลงมา มีผู้เสียชีวิต และสูญหายจำนวนมาก ทำให้เหตูการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นภัยพิบัติ หรือสาธารณภัยครั้งรุนแรงครั้งหนึ่งของประเทศไทย ที่สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คน รวมถึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งหากจะย้อนเหตุการณ์ภัยพิบัติสำคัญในอดีต ที่อยู่ในความทรงจำของคนไทย 5 เหตุการณ์ ก็จะมีดังนี้

 

 

 

1.”สินามิ” เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 เหตุการณ์ต่อเนื่องจากการเกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง 9.1-9.3 ริกเตอร์ ซึ่งมีศูนย์กลางบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ห่างจากจังหวัดภูเก็ตประมาณ 580 กิโลเมตร แผ่นดินไหวก่อให้เกิดคลื่นน้ำขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า “สึนามิ” ถล่มหลายประเทศทั่วมหาสมุทรอินเดีย และ 6 จังหวัดภาคใต้ของไทย ได้แก่ ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล ทำให้ในไทยมีผู้เสียชีวิตประมาณ 5,400 คน บาดเจ็บกว่า 8,000 คน และสูญหายอีกจำนวนมาก นับเป็นความสูญเสียที่ร้ายแรง ที่สุดในประวัติศาสตร์ภัยพิบัติของไทย

 

2 “น้ำท่วมใหญ่ ปี 2554” ซึ่งเกิดขึ้นเพราะฝนตกชุกจนปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์หลังมีพายุเข้ามาอย่างต่อเนื่องถึง 5 ลูก ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในหลายๆ พื้นที่ทางภาคเหนือเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ จำเป็นต้องเร่งระบายน้ำจากเขื่อน ส่งมวลน้ำมหาศาลเข้าท่วมหลายจังหวัด
ลงมาถึงกรุงเทพฯ ในปลายเดือนตุลาคม และต้องรอพ้นปีใหม่ พ.ศ. 2555 น้ำจึงลด มีผู้เสียชีวิตถึง 1,026 คน ประชาชนได้รับความเดือนร้อนกว่า 5 ล้านครัวเรือน ธนาคารโลก ประเมินว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ มีมูลค่าสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท เป็น “มหาอุทกภัย” ที่เลวร้ายที่สุด

 

3.”พายุโซนร้อนแฮเรียต” ถล่มแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2505 ซึ่งนำพาคลื่นทะเลซัดเข้าฝั่ง ทำให้น้ำทะเลหนุนเข้าในพื้นที่อ่าวปากพนัง พัดพาบ้านเรือนราษฎรเสียหายอย่างมาก เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตพายุมากถึง 900 คน สูญหายอีกเกือบ 200 คน บาดเจ็บ 250 คน และต้องไร้ที่อยู่อาศัยราว 20,000 คน โดยความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นเพราะประชาชนไม่เข้าใจประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาจึงเตรียมการป้องกันไม่ทัน,

 

4 “พายุไต้ฝุ่นเกย์” ถล่มชายฝั่งทะเลอ่าวไทย เมื่อ วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 ที่บริเวณรอยต่อระหว่างอำเภอปะทิว กับอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ทำให้เกิดน้ำท่วม สร้างความเสียหายอย่างหนักในพื้นที่จังหวัดชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงตามชายฝั่งอ่าวไทย ความรุนแรงของพายุทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 500 ราย สูญหายกว่า 400 ราย ทรัพย์สินของทางราชการและเอกชน เสียหายไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท นับเป็นการสูญเสียจากพายุไต้ฝุ่นครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย,

 

ปิดท้ายอันดับ 5 “การระบาดทั่วของโควิด-19 ในประเทศไทย” ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2563 โดยไทยเป็นประเทศแรกที่พบผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 รายแรกนอกประเทศจีน หลังจากนั้นก็มีการแพร่ระบาดของเชื้ออย่างต่อเนื่อง เป็นเวลากว่า 2 ปี ก่อนจะมีการฉีดวัคซีน ระงับยับยั้งการแพร่ระบาดได้ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การระบาดโควิด 19 เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ โดยข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ทั่วโลกมีเสียชีวิต มากกว่า 6,921,614 ส่วนประเทศไทย พบผู้ป่วยสะสมทั้งหมด4,692,636 คน เสียชีวิตสะสม 34,586 ราย และส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และสังคมเป็นอย่างมาก ซึ่งนอกเหนือจาก 5 เหตุการณ์นี้แล้ว ยังมีภัยพิบัติอีกหลายครั้งที่คนไทยต้องสูญเสีย และจดจำเป็นบทเรียนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการณ์ร้ายๆ เกิดขึ้นอีก ….

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube