ส่งผู้ป่วยโควิด135คนนั่งรถไฟกลับบ้าน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี เเละรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ส่งผู้ป่วยโควิด -19 กลับภูมิลำเนา ภาคอีสาน 6จังหวัดอีสานตอนล่าง ณ สถานีรถไฟรังสิต ประกอบด้วย นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีษะเกษ ยโสธร อุบลราชธานี
โดยขบวนรถไฟที่ส่งผู้ป่วยในวันนี้เป็นขบวนพิเศษที่จัดส่งผู้โดยสารกลับภูมิลำเนา จำนวน 135 คน ตามความประสงค์ที่แจ้งมายังกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงคมนาคมซึ่งสำหรับขบวนรถไฟ 1 ขบวนนั้นสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 250 คน ซึ่งรถไฟ 1 ตู้ ทางกระทรวงสาธารณสุขได้จัดให้ผู้โดยสารนั่ง 36 คน และจัดทีมแพทย์ในการเฝ้าดูแลรวมทั้งหมดจำนวน 10 คน โดยขบวนรถไฟขบวนนี้จะไม่มีการจอดพักหรืออนุญาตให้ผู้โดยสารนั้นลงจากขบวนรถระหว่างทางเด็ดขาด เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อจะมีเพียงการส่งผู้โดยสารลงปลายทางตามจังหวัดที่แจ้งความประสงค์จะกลับภูมิลำเนาเท่านั้น
นายอนุทิน กล่าวว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่อยู่กรุงเทพฯแต่ยังไม่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลและมีความประสงค์จะกลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนาจึงได้แจ้งความประสงค์มา และกระทรวงสาธารณะสุขได้ร่วมกับกระทรวงคมนาคม จัดขบวนรถนำส่งตามความประสงค์
ทั้งนี้ ขอให้อย่าเชื่อข่าวลือเรื่องมาตรการสาธารณะสุข เพราะบนขบวนรถมีการดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์และเจ้าหน้าที่ ซึ่งเมื่อถึงปลายทางจะมีรถฉุกเฉินมารับ ไม่มีการแวะ พร้อมยืนยันว่า จะขนส่งผู้ป่วยไปจนกว่าความต้องการจะหมด
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังได้ประสานเรื่องของรถตู้ หรือหากจำเป็นต้องใช้อากาศยาน นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ประสานงานกับกองทัพในกรณีที่มีผู้ป่วยมีความต้องการจะเดินทางจำนวนมากหรือในเส้นทางไกลๆ สำหรับผู้ป่วยที่จะกลับไปภูมิลำเนาได้จะต้องมีเตียงพร้อมถึงจะเดินทางกลับได้
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า การส่งผู้ป่วยโควิด-19 จากกรุงเทพฯและปริมณฑล กลับภูมิลำเนา เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้มอบหมายให้ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร่วมกันกำหนดแนวทางและวางระบบการดูแลจัดส่งผู้ป่วยโควิดกลับอย่างปลอดภัยไม่ให้มีการแพร่เชื้อระหว่างการเดินทาง
โดยกระทรวงคมนาคม มีความพร้อมทั้งในส่วนจุดรับเมื่อผู้ป่วยถึงจังหวัด ขั้นตอนการคัดกรอง และพื้นที่ให้การรักษาผู้ป่วยทั้งส่วนที่เป็นศูนย์พักคอย โรงพยาบาลสนาม และโรงพยาบาล
ขณะเดียวกันหน่วยงานภายใต้กระทรวงได้แก่ บริษัท ขนส่ง จำกัด กรมขนส่งทางบก การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ได้จัดขบวนรถ ออกแบบเส้นทางการขนส่ง การอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่ที่จะให้บริการ ตามมาตรฐานสาธารณสุข
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ประสงค์จะเดินทางกลับภูมิลำเนาต้องติดต่อผ่านสายด่วน สปสช. 1330 หรือติดต่อแจ้งความประสงค์กับแต่ละจังหวัด จากนั้นแต่ละจังหวัดจะรวบรวมรายชื่อ จำนวนผู้ป่วย จำนวนเตียงที่ว่างแล้วแจ้งยอดต่อ สพฉ. จากนั้น สพฉ. จะแจ้งยอดผู้ป่วยให้แก่กระทรวงคมนาคมเพื่อจัดขบวนรถและจัดเส้นทางการขนส่ง พร้อมประสานวัน เวลา เพื่อเข้ารับตัวผู้ป่วยจากที่พักอาศัยโดยจะไม่มีกรณีผู้ป่วยเดินทางมา ณ จุดขึ้นรถเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news