เศรษฐกิจไทยถูกสะท้อนออกมาในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการกินดีอยู่ดีของประชาชน การจับจ่ายใช้สอย รวมถึงตัวเลข “จีดีพี” หรือ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ
“ความมั่งคั่ง” ของเศรษฐกิจไทยถูกสะท้อนออกมาในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการกินดีอยู่ดีของประชาชน การจับจ่ายใช้สอย รวมถึงตัวเลข “จีดีพี” หรือ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งในปีนี้ถูกท้าทายจากปัจจัยแวดล้อมที่ฤาโถมเข้ามากระทบทั้งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปจนถึงความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ยังไม่สามารถหาสันติภาพได้ ก่อนหน้านี้หน่วยงานต่างๆ และสำนักวิจัยหลากหลายที ได้วาดภาพเศรษฐกิจไทยปี 2565 ว่าจะเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง หลังจากปี 2563 ต่อเนื่องมา 2564 เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับความเสี่ยงหลากหลายรูปแบบ
แต่ล่าสุด ภาพการเติบโตปีนี้ก็ถูกหั่นจากผลกระทบสงครามรัสเซียยูเครน ซึ่งมีผลต่อการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวของไทยและการส่งออกของไทยที่จะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าเป็นสำคัญ
สำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.รวบรวมตัวเลขจีดีพีปี 2565 หน่วยงานไหนปรับ สำนักวิจัยไหนลด เราไปดูกัน เริ่มต้นที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ที่ล่าสุดได้ปรับลดจีดีพีปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.4% ลงมาอยู่ที่ 3.2% ขณะที่ปีหน้าก็ปรับลงเช่นกันจาก 4.7% เป็น 4.4%
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดตัวเลขลงมาอยู่ที่ 2.9% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.7% เช่นเดียวกับวิจัยกรุงศรีปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้ลงเหลือ 2.8% จากเดิมคาด 3.7% ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ก็หั่นตัวเลขลงจาก3.2% มาแตะที่ 2.7% และล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันหรือ กกร. วันที่ 5 เมษายนนี้ก็จะหยิบยกเรื่องตัวเลขเศรษฐกิจมาหารือด้วยเช่นกัน
ขณะที่หอการค้าไทยก็เตรียมที่จะแถลงมุมมองเศรษฐกิจปี 2565 โดยนายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า สงครามรัสเซียยูเครนที่เกิดขึ้นดูแล้วจะยืดเยื้อ ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย “สถานการณ์หลักของประเทศไทยถ้าเราดูจากโครงสร้างจีดีพีของไทยจริงๆ ยังคงเป็นภาคบริการเพราะฉะนั้นสถานการณ์โอไมครอน ยังคงมีผลกระทบ กับเศรษฐกิจของประเทศไทยค่อนข้างเยอะ เพราะว่าตราบใดที่นักท่องเที่ยวยังเข้ามาในประเทศไทยได้น้อย หรือเป็นสัดส่วนที่น้อยผลกระทบทางด้านจีดีพีก็จะมีผล
แต่ว่าอย่างไรก็ตามอันดับที่มันใกล้เคียงเบียดกันมา ก็คือเรื่องของรัสเซียยูเครนก็ยังถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญเพราะว่าตอนนี้เราประเมินถึงสถานการณ์ที่อาจจะส่งผลกระทบกับภาคเกษตรของไทยค่อนข้างเยอะ”
ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการก็คือการดูแลค่าครองชีพ ราคาสินค้าไม่ให้สูงขึ้น เพราะขณะนี้เศรษฐกิจไทยกำลังเริ่มฟื้นตัวจากโอไมครอน “สิ่งที่รัฐบาลควรจะต้องดูและให้ความสำคัญมากที่สุด ณ ตอนนี้ ก็คือเรื่องของราคาสินค้าหรือว่าพวกเงินเฟ้อเพราะว่าสถานการณ์รัสเซียยูเครนมันจะส่งผลกระทบทำให้ราคาสินค้าในหลายๆประเภทมีการดีดตัวสูงขึ้นเพราะฉะนั้นการที่ประเทศไทยกำลังจะเริ่มฟื้นจากสถานการณ์โอไมครอนหรือว่าเริ่มที่จะมีการผ่อนคลายมากขึ้นโดยคนที่เริ่มจะกลับมาทำงานในหลายๆ หน้าที่คือเศรษฐกิจมันเริ่มกลับมาในเรื่องของกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจ แต่ว่าเรื่องของข้าวของราคาแพงก็ยังเป็นสิ่งที่น่ากังวลเพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องมาควบคุมและดูแลก็คือเรื่องของค่าครองชีพของประชาชน แล้วก็เรื่องของสถานการณ์เงินเฟ้อที่เกิดจากสถานการณ์ของสงคราม”
จากนี้ต่อไปจะต้องติดตามภาพใหญ่ของสถานการณ์โลกที่เชื่อมโยงมาถึงเศรษฐกิจไทยว่าจะเข้มข้นขึ้นอีกหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ”สั่งลุยเต็มที่ผลักดันการส่งออกให้เติบโตได้ 10% ในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลทำให้จีดีพีของประเทศเติบโตได้ร้อยละ 3-4 นั่นเอง
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews