Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

3 ฝ่ายดูแลปาล์ม คนกินไม่รอด

สินค้าหลายรายการปรับราคาสูงขึ้นคงคงปฏิเสธความจริงข้อนี้ไม่ได้ เพราะต้นทุนการผลิตพุ่งสูงแบบฉุดไม่อยู่ และหนึ่งในสินค้าจำเป็นรายการสำคัญ คือน้ำมันปาล์มบรรจุขวด ราคาขายปลีกบางพื้นที่แตะขวดละ 70 บาทไปแล้ว

 

ทั้งที่กระทรวงพาณิชย์ โดย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ บอกว่า ได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน เร่งบริหารจัดการทำให้ทั้ง3ฝ่ายอยู่ได้ ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการและผู้บริโภค ภายใต้นโยบาย วิน-วิน โมเดล

 

ซึ่งต้องบริหารจัดการผลปาล์มและน้ำมันปาล์มให้เข้าสู่ภาวะสมดุล โดยได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแล ประกอบด้วย ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ ทั้งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตัวแทนเกษตรกร ผู้ประกอบการ

 

ทำหน้าที่วิเคราะห์สถานการณ์การผลิต การตลาด ราคาและปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาผลปาล์มและน้ำมันปาล์ม ซึ่งต้องกำหนดปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบที่เหมาะสมกับสถานการณ์ และให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศป้องกันน้ำมันปาล์มขาดแคลน นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้พาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ตรวจสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบของโรงงานต่างๆ และให้รายงานทุก 7 วัน เพื่อติดตามสถานการณ์ได้อย่างใกล้ชิด

 

โดยเวลานี้ ประเทศไทยมีสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบอยู่ประมาณ 180,000-200,000 ตัน ซึ่งต้องยอมรับว่าราคาผลปาล์มสูงขึ้นมากเป็นประโยชน์กับเกษตรกร แต่อาจจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภค

 

และจากรายงาน ปริมาณการผลิตผลปาล์มในประเทศปีนี้ จะมีประมาณ 17.9 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากปีก่อน ขณะนี้ราคาผลปาล์มในประเทศราคาดีขึ้นมาก ล่าสุดราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 9.80-11.20 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 52 จากราคาเฉลี่ยปีก่อน ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดเพื่อการบริโภคราคาสูงขึ้นอยู่ในระดับปัจจุบัน ที่ตามโครงสร้างต้นทุน ราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวด จะตกอยู่ที่ประมาณขวดละ 76 บาท แต่จากการบริหารจัดการของกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับผู้ประกอบการทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทำให้ราคาเฉลี่ยเวลานี้ น้ำมันปาล์มบรรจุขวด จะอยู่ที่ประมาณขวดละ 65-68 บาท

 

บริหารจัดการอย่างไรให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ และกระทรวงพาณิชย์สามารถดูแลผู้บริโภคไม่ให้ต้องซื้อน้ำมันปาล์มในราคาแพงจนเกินควร

 

หลักปฏิบัติดีแต่ในความเป็นจริงเวลานี้ ร้านอาหารตามสั่ง ร้านขายข้าวแกงหรือแม้แต่ร้านข้าวไข่เจียว ที่พึ่งของผู้มีรายได้น้อย แทบเอาตัวไม่รอด ต้นทุนพุ่งกำไรหด จำใจยอมเปิดร้านถึงแม้ว่าต้องเสี่ยงกับการขาดทุน แต่จะให้ปิดกิจการปิดช่องทางทำมาหากินคงไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เพราะส่วนหนึ่งยังมีความหวังว่า หลังเปิดประเทศเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

 

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube