Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

ตรึง 35 ดีเซลห้ามขึ้น จีบซาอุฯซื้อน้ำมันถูก

น่าจับตาเป็นอย่างยิ่งกับการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช.วันที่ 4 กรกฎาคมนี้ ที่มีนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานเคาะแผนรับมือวิกฤตพลังงานที่ในวันนี้แพงหูฉี่ และยังไม่มีท่าทีว่าราคาจะแผ่วลง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าครองชีพของพี่น้องประชาชนให้สูงขึ้น

 

แน่นอนว่า เสียงสะท้อนที่เกิดขึ้นในด้านลบกับวิกฤตพลังงานครั้งนี้ ย่อมมีผลต่อคะแนนนิยมของรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในมุมมอง ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย “นายเกรียงไกร เธียรนุกุล”

 

สะท้อนแง่มุมในมิติที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการไว้อย่างน่าสนใจ โดยบอกกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น.ว่า สิ่งสำคัญในวันนี้ที่รัฐบาลต้องทำ ก็คือ การตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตร เพราะการขึ้นราคาน้ำมันทุกๆ 1 บาท และ ดีเซลทะลุ 35 บาท ย่อมหมายถึงต้นทุนของผู้ประกอบการที่จะเพิ่มขึ้น ส่งผลไปยังสินค้าที่ต้องปรับราคา

 

นอกจากนี้ “นายเกรียงไกร” ยังได้เสนอให้รัฐบาลเร่งหารือกับมิตรประเทศ ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายอื่น ๆ อาทิ รัสเซีย อินดีย ซาอุดีอาระเบีย เพื่อขอซื้อน้ำมันดิบในราคามิตรภาพที่ต่ำกว่าราคาตลาดโลก เพื่อที่ประเทศไทยจะได้ใช้น้ำมันที่มีราคาถูกลง

 

“ถ้าเกิดจะแก้ในเรื่องนี้ ลองไปหาแหล่งน้ำมันที่มีราคามิตรภาพ ไม่รู้จะได้หรือเปล่า เช่น รัสเซียที่เราเคยพูดกันว่า ราคาจะถูกสำหรับประเทศที่เป็นมิตร เขาก็จะให้ราคาที่เป็นมิตรภาพในราคาที่ถูกกว่าราคาปกติ อย่างเช่นที่อินเดียก็ได้ราคาต่ำกว่า ส่วนลดถึง 20-25%

 

ซึ่งอันนี้ถ้าเราได้ส่วนลดตรงนี้ ก็จะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หรือว่าจะไปหาแหล่งอื่นๆ ในตะวันออกกลาง หรือทางซาอุดีอาระเบียในฐานะที่เราเพิ่งเปิดประเทศกลับมาเป็นมิตรกัน หลังจากที่ไม่ได้คบหา เดินทางด้วยกันมา 32ปี ซึ่งตอนนี้ผมเห็นว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ดี ว่าจะขอราคาพิเศษได้ไหม ถ้าได้แหล่งพลังงานที่ราคาถูกก็ช่วยได้เยอะเลยครับ”

 

ส่วนความเคลื่อนไหวของกระทรวงพลังงานกับการรีดกำไรโรงกลั่นเพื่อมาโปะกองทุนน้ำมันที่ในวันนี้ติดลบแล้วกว่า 1 แสนล้านบาทนั้น ล่าสุด ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส มองว่าภาครัฐควรต้องออกระเบียบ กติกา หรือข้อกฎหมายขึ้นมารองรับการดำเนินการให้เกิดความชัดเจน และสามารถตอบข้อสงสัยของทุกฝ่ายได้

 

เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหา หรือปัญหาฟ้องร้องตามมาในภายหลัง ดังนั้นตามแผนเดิมที่ภาครัฐต้องการให้ทั้ง 6 โรงกลั่น เริ่มดำเนินการจัดส่งส่วนต่างค่าการกลั่นเข้าสู่กองทุนน้ำมันเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ ก.ค.-ก.ย. 2565

 

ก็อาจต้องขยับระยะเวลาดำเนินการออกไปจนกว่าการพิจารณาข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อมารองรับการดำเนินการจะแล้วเสร็จ จากนี้ต่อไปจะต้องติดตามแผนรับมือวิกฤตพลังงานอย่างใกล้ชิด เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น เดิมพันด้วยปากท้องของประชาชนนั่นเอง

 

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube