“นิกร” ร่วมสว.คุยประชามติ-กมธ.ศก.ถกดิจิทัล1หมื่น
วันนี้ คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ วุฒิสภา ร่วมกับคณะอนุกรรมการจัดทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ นัดประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หาข้อยุติ ไม่ให้เกิดความขัดแย้ง โดย “นิกร จำนง” ในฐานะประธานอนุกรรมการฯ เปิดเผยว่าเตรียมเดินสายพูดคุยรับฟังความเห็นให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ก่อนเสนอรัฐบาลต้นปีหน้า ส่วนคำถามประชามติต้องเป็นคำถามที่ง่ายและชัดเจน ขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจฯ วุฒิสภา ได้มีการจัดเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท
โดยคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ร่วมกับคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานกรรมาธิการ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีการทำประชามติว่า ควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้น ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ เป็นประเด็นสำคัญ เมื่อเข้าสู่ช่วงเวลาที่จะแก้ไข ต้องมีจุดเริ่มต้น ซึ่งการจะทำเรื่องเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความเห็นที่แตกต่างเป็นความเห็นที่จะต้องหาข้อยุติ เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง
ด้านนายนิกร จำนง ประธานอนุกรรมการฯ เปิดเผยว่า วันนี้มาร่วมประชุม เพื่อนำคำถามที่ตั้งเป็นตุ๊กตามาให้ที่ประชุม ได้ร่วมกันพิจารณา และขอให้ร่วมกันตั้งคำถาม เพื่อไปถามสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด เนื่องจาก สว. มีส่วนในการลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อจะได้ทราบแนวทางว่า ถ้าส่งมาแล้วจะรับหรือไม่ โดยหลังจากนี้ต้องรอเปิดสมัยประชุมสภา จะได้ส่งคำถามไปให้
ซึ่งหลังจากนี้ จะมีการเดินสายพบปะพูดคุยกับนายพริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร รวมถึงการรับฟังเยาวชนคนรุ่นใหม่ นักเรียนนักศึกษา ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นการทำเป็นโฟกัสกรุ๊ป และจะเดินสายรับฟังความเห็นแต่ละภาค ทั่วประเทศ ทั้งนี้ เมื่อได้ความคิดเห็นครบทั้งหมดแล้วก็ จะมีการสรุปในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ธ.ค. และคงได้ข้อสรุปจากคณะใหญ่ในช่วงปลายสัปดาห์ และต้นปี 2567 ก็จะเสนอให้รัฐบาลได้ สำหรับคำถามที่จะถามประชาชนต้องเป็นคำถามที่ง่ายๆ และชัดเจน
ส่วนการพูดคุยกับ สว.ที่บางคนไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับและควรแก้บางมาตรานั้น นายนิกร กล่าวว่า ฝ่ายการเมืองและฝ่ายรัฐบาลที่เลือกจะแก้ทั้งฉบับ โดยเว้นหมวด 1 และ 2 ก็อยากให้รัฐธรรมนูญชุดนี้เป็นของประชาชน การแก้เพียงรายมาตราไม่ได้มาจากประชาชน ดังนั้น การมี ส.ส.ร. คือ การให้มีรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน
ขณะ นายจเด็จ อินสว่าง สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะกรรมาธิการ ย้อนถามแก้รัฐธรรมนูญ ประชาชนได้ประโยชน์อะไร หรือแค่แก้ “เอามัน” พร้อมมองว่า ยิ่งสร้างความแตกแยก และเปิดเผยด้วยว่า สว.ค่อนสภา ไม่เอาแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา ร่วมกับ คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา และคณะกรรมการวิชาการของวุฒิสภา จัดโครงการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่อง “นานาทัศนะกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท : เป้าหมายการกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้ความท้าทายและพลวัตที่เปลี่ยนแปลงไปของประเทศ” โดยมีการเชิญวิทยากรมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ 2 กรรมาธิการ พิจารณาเห็นว่า การดำเนินนโยบายดังกล่าวของรัฐบาลเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง ที่ควรตระหนักถึงผลดีและผลเสียและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อระดมความคิดเห็น และรับฟังข้อมูลเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อรวบรวมและจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อรัฐบาลต่อไป
ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th
Twitter : https://twitter.com/innnews
Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN
TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news
LINE Official Account : @innnews