Home
|
คลิปข่าวทั่วไป

กกท.วิ่งวุ่นซื้อลิขสิทธิ์ ยิงสดโอลิมปิกปารีส

 

 

 

มีประเด็นให้ลุ้นกันอีกแล้วสำหรับการกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. หลังจากบอร์ด กสทช. มีมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 เสียง ไม่เห็นชอบในการสนับสนุนงบประมาณ

 

 

 

 

 

 

เพื่อจัดหาลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 33 และการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกครั้งที่ 17 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ตามที่ กกท. ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กองทุน กทปส. จำนวน 435 ล้านบาท

 

หลังจากก่อนหน้านี้ การกีฬาแห่งประเทศไทยได้รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ มีสภาพคล่องไม่เพียงพอในการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด จึงขอรับการอนุมัติงบจากกองทุน กทปส.

ทั้งนี้ กสทช.ให้เหตุผลไม่สนับสนุนงบประมาณดังกล่าว เนื่องจากการซื้อลิขลิทธิ์ถ่ายทอดครั้งนี้ มีเอกชนได้ไปซื้อสิทธิ์มาแล้ว จึงเป็นเรื่องที่เอกชนผู้ได้ลิขสิทธิ์ จะนำสิทธิ์ไปบริหารจัดการทางด้านการตลาดเพื่อหารายได้เอง แต่เอกชนก็ต้องปฏิบัติตากฎมัสต์แฮฟ ที่ต้องนำมาถ่ายทอดสดออกฟรีทีวีด้วย

 

ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่า แล้วการกีฬาแห่งประเทศไทยจะดำเนินการอย่างไรต่อไป หลังกสทช.มีมติดังกล่าวออกมา ล่าสุด สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถาม “ดร.ก้องศักด ยอดมณี” ผู้ว่าการ การกีฬาแห่งประเทศไทย ในเรื่องดังกล่าว

 

โดย “ผู้ว่า ก้องศักด” กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่การประชุมของ กสทช.ไม่ได้ให้ กกท.เข้าไปชี้แจงถึงเหตุผลความจำเป็นในการร้องขอรับการอนุมัติงบจากกองทุน กทปส. ซึ่ง กกท.พยายามเป็นอย่างยิ่ง ที่จะให้คนไทยทุกคนได้ดูการถ่ายทอดสดกีฬาโอลิมปิก และการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก ที่ในปีนี้มีนักกีฬาไทยเข้าร่วมแข่งขันเป็นจำนวนมาก

 

“เราก็ร้องขอไปอันนี้ก็อยู่ที่ดุลพินิจของ กสทช. จริงๆ น่าเสียดายนิดนึงก็คือว่า ตอนที่ประชุมแล้วก็ตัดสินใจกันว่าจะไม่ให้ เราไม่ได้มีโอกาสชี้แจงเพิ่มเติมอะไรต่างๆได้เพียงพอ เพราะว่าเค้าไม่ได้เชิญไปด้วยไม่ได้เชิญ กกท.เข้าไปสแตนบายหรือว่าเข้าไปชี้แจงในการเคาะจะไม่ให้ มันก็มีจุดที่เสียดาย

 

แต่ว่าเราก็ยังพยายามในแง่ของกีฬา เราก็จะพยายามที่จะให้มีการถ่ายทอดสดให้ได้ อันนี้เป็นนโยบายของการกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และเป็นนโยบายของรัฐบาลด้วย ที่ตั้งใจให้คนไทยได้เชียร์นักกีฬาในโอลิมปิกและพาราลิมปิก ซึ่งโอลิมปิกเรามีถึง 51 คนพาราลิมปิกเกือบ 80 คน”

 

และเมื่อถาม “ผู้ว่า ก้องศักด” ว่า หลังจากนี้ ทาง กกท.จะเสนอของบประมาณจากภาครัฐ เพื่อมาสนับสนุนการถ่ายทอดกีฬาโอลิมปิกหรือไม่ คำตอบที่ได้น่าสนใจ

 

“ถ้าไม่ได้รับเงินสนับสนุนเลย ภาระต่างๆเนี่ยก็จะต้องตกมาที่การกีฬากับทางรัฐบาล ทั้งๆที่จริงๆแล้ว การปฏิบัติตามกฎ Must Have Must Carry เป็นกฎกติกาที่ กสทช.เคาะออกมา เอกชนที่เค้าซื้อสิทธิเนี่ย เค้าจะซื้อบางส่วน

 

แต่ว่าเค้าก็จะต้องไปคัฟเวอร์ในการถ่ายทอดทางดิจิทัลทีวี ฟรีทีวี ที่จะต้องเป็นเหมือนกับเป็นเงื่อนไขของ กสทช.ว่า ถ้ามีการถ่ายทอด ต้องถ่ายทอดทุกช่องทางเพราะฉะนั้นอันนี้ก็ไม่สามารถไปวิจารณ์ได้ เพราะผมไม่ได้อยู่ในคณะของกสทช. แต่ก็ทำให้ภาระตรงนี้มันตกมาที่ทาง กกท. และรัฐบาล”

 

“ผู้ว่า ก้องศักด” กล่าวด้วยว่า ปีนี้เป็นปีที่ การกีฬาแห่งประเทศไทย และ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก เพราะมีกิจกรรมกีฬามากกว่าทุกปี ดังนั้นจึงต้องหางบประมาณส่วนอื่นมาสนับสนุนอีกด้วย

 

“ถ้าพูดตรงๆนะมันก็มีความเสี่ยงสูงในการที่เราใช้เงินจำนวนมากโดยที่มีภาระกิจในการจัดมหกรรมกีฬาอยู่ด้วยเนื่องจากเราจะจัดเป็นเจ้าภาพ เอเชียนอินดอร์แอนด์ มาร์เชียลอาตส์เกมส์ ถ้าทุกอย่างมาใช้แต่เงินกองทุน รับรองไม่พอแน่ ก็คือถ้าทั้งการถ่ายทอดสด การจัดเอเชียนอินดอร์ การเตรียมซีเกมส์ต่างๆ

 

ซึ่งเป็นภาระกิจที่พิเศษ ไม่ใช่ภารกิจประจำปี มันต้องแยกว่าปีปกติไม่ได้มีโอลิมปิกเราก็ไม่มีภาระนี้ ถ้าบางปีเราเป็นเจ้าภาพเช่นอินดอร์อาร์ตก็ไม่มีภาระนี้แต่เมื่อเรามีทั้งภาระกิจ ทั้งการถ่ายทอดโอลิมปิก ภารกิจเรื่องของการจัดเอเชียนอินดอร์แอนด์ มาร์เชียลอาตส์ ปลายปีนี้และภารกิจในการจัดซีเกมส์ในปลายปีหน้า ซึ่งเรารับเป็นเจ้าภาพหมดแล้ว มันเป็นภารกิจเพิ่มเติมพิเศษ

 

ซึ่งใช้เงินกองทุนตอนนี้ถ้ารับทุกอย่างแบบนี้เนี่ยไม่พอแน่ ก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากแหล่งเงินอื่นด้วย แหล่งเงินอื่นที่เราไปขอเช่น กสทช.แต่ถ้า กสทช. ไม่ได้เราก็ต้องไปพยายามใช้เงินของเราที่มีอยู่จำกัดนี้ให้ได้ แต่ยังไงผมก็ยืนยันว่าถ้าต้องทำทุกอย่างที่กล่าวไปทั้งหมด โดยใช้เงินของกองทุนอย่างเดียวไม่พอแน่”

 

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดคณะกรรมการกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ อนุมัติงบกว่า 400 ล้านบาทเพื่อซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และพาราลิมปิก 2024 ร่วมกับภาคเอกชนแล้ว

 

สำหรับการแข่งขันโอลิมปิกครั้งที่ 33 กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส มีขึ้นระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม – 11 สิงหาคม 2567 โดยประเทศไทยมีจำนวนนักกีฬามากที่สุดในอาเซียน โดยมีนักกีฬาไทยที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 51 คน ใน 17 ชนิดกีฬา คือ

 

1. เทควันโด จำนวน 3 คน
2. จักรยาน จำนวน 4 คน
3. ยิงปืน จำนวน 3 คน
4. ขี่ม้า จำนวน 1 คน
5. แบดมินตัน จำนวน 9 คน
6. ยกน้ำหนัก จำนวน 4 คน
7. ปัญจกีฬาสมัยใหม่ จำนวน 1 คน
8. เรือพาย จำนวน 1 คน
9. มวยสากลสมัครเล่น จำนวน 8 คน
10. กอล์ฟ จำนวน 4 คน
11. เรือใบ จำนวน 2 คน
12. ไคท์บอร์ด จำนวน 2 คน
13. เทเบิลเทนนิส จำนวน 3 คน
14. เอ็กซ์ตรีม จำนวน 1 คน
15. ว่ายน้ำ จำนวน 2 คน
16. ยูโด จำนวน 1 คน
และ 17. กรีฑาจำนวน 2 คน

 

 

 

 

 

 

ติดตามเนื้อหาดีๆแบบนี้ได้ที่

Facebook : https://www.facebook.com/innnews.co.th

Twitter : https://twitter.com/innnews

Youtube : https://www.youtube.com/c/INNNEWS_INN

TikTok : https://www.tiktok.com/@inn_news

LINE Official Account : @innnews

  • Tiktok
  • Youtube
  • Youtube